นปช. เตรียมยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด และ ป.ป.ช.รื้อคดี ฟ้อง "อภิสิทธิ์ - สุเทพ" สั่งทหารสลายชุมนุมเมื่อปี 2553 ระบุหากอัยการสูงสุด ไม่ยอมยื่นฟ้อง ก็ต้องแจงเหตุผลมาให้ชัดเจน พร้อมยืนยัน จะเดินหน้าทุกช่องทาง และ สนับสนุนให้มีการเปิดเวทีทางวิชาการ เพื่อถกเถียงกันถึงประเด็นนี้เต็มที่
นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. กล่าวว่า ในวันที่ 18 กันยายนนี้ เวลา 10.00 น. นปช.จะนำผู้เสียหายในคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ไปยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไต่สวนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี / นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยจะทำควบคู่กันไปกับการนำผู้เสียหายไปร้องต่อ ป.ป.ช.โดยตรง ซึ่งคาดจะเป็นในวันที่ 22 กันยายนนี้
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า การยื่น อัยการสูงสุด อาจผิดขั้นตอนของช่องทางกฎหมายนั้น หากอัยการสูงสุด เห็นว่าผิดขั้นตอน อัยการสูงสุดจะต้องแถลงให้รับทราบอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันฝ่ายกฎหมาย นปช. เห็นว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องอยู่แล้ว จึงสามารถดำเนินการส่งเรื่องผ่าน ป.ป.ช.ได้ และ นปช.จะติดตามอัยการสูงสุด ว่าจะเดินหน้าในสำนวนสั่งฟ้องหรือไม่
ทั้งนี้หากไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นปช.ก็เห็นสมควรจะเดินหน้ามาตรการทางกฎหมายอื่นๆ และมาตรการทางสังคม โดยสนับสนุนให้มีการเปิดเวทีทางวิชาการ เพื่อถกเถียงกันถึงประเด็นดังกล่าวในวงกว้าง เพราะคดีนี้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จะนิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นคงไม่ได้
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า การเรียกร้องความยุติธรรมให้คนตายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เป็นการดำเนินการในทุกช่องทางที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่มีการสร้างเงื่อนไขขัดแย้งหรือเผชิญหน้ากับฝ่ายผู้มีอำนาจแต่อย่างใด และ การยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ไม่ใช่การเรียกร้องให้อัยการสั่ง ป.ป.ช.ให้ดำเนินการไต่สวน แต่เป็นการขอความเป็นธรรม ว่าเมื่ออัยการสูงสุดสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 คน ฐานฆ่าคนตายไว้แล้ว และ คำพิพากษาศาลฎีกาไม่ได้ยกฟ้อง แต่ให้เป็นอำนาจศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณาคดีดังกล่าว
อัยการก็ควรส่งเรื่องให้ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการต่อไป เพราะถือเป็นพยานหลักฐานใหม่หรือไม่ หากอัยการสูงสุดเห็นว่าไม่ต้องดำเนินการใดๆ จะเก็บสำนวนฟ้องเอาไว้เองก็ขอให้ตอบเป็นลายลักษณ์อักษร จะได้ปรากฏเป็นหลักฐาน
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า คำพิพากษาศาลฎีกา ชี้ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า คนตายเพราะเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธและกระสุนจริงจากคำสั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ชี้ขาดว่าไม่มีความผิด สิ่งที่ตนเองพยายามทำคือ ให้คดีไปถึงศาล ถูกผิดก็สู้กันตามกระบวนการ ปกติมีเหตุฆ่ากันตายแม้แต่รายเดียว หน่วยงานต่างๆ ต้องกระตือรือร้นทำคดี ใครให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ก็ถือเป็นพลเมืองดี
ทั้งนี้ตนเองจะสู้ต่อไป ให้สังคมเข้าใจว่า เกือบร้อยชีวิตไม่ได้ต้องการแค่ศาลเพียงตา แต่ต้องการศาลสถิตย์ยุติธรรม
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงท่าทีต่อการดำเนินการของกลุ่ม นปช. ว่า การดำเนินการต่างๆ มีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอยู่แล้ว และป.ป.ช.ก็ได้สรุปกรณีของนายสุเทพกับ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นไว้แล้วว่า กระบวนการจะต้องเดินอย่างไร
ส่วนตัวมีความเห็นใจต่อผู้สูญเสียและครอบครัว และก็พูดมาตลอดว่า สนับสนุนการค้นหาข้อเท็จจริง อะไรที่ช่วยให้เกิดข้อเท็จจริงต่อสังคม เพื่อให้ความเป็นธรรมก็ควรที่จะทำ แต่ไม่ควรนำมาใช้เป็นประเด็นทางการเมือง