คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เผยร่างกฎหมายลูก 3 ฉบับสุดท้ายเสร็จหมดแล้วในเบื้องต้น เตรียมพร้อมส่งกฎหมายลูกให้สนช.อีก 1 ฉบับในเดือนส.ค.นี้ ขณะที่พรรรเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาค้านแนวคิดให้ผู้สมัครเลือกตั้งแบ่งเขตไม่ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ เพราะจะสร้างความสับสนให้กับประชาชน

นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เตรียมเสนอร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตจับสลากเบอร์ในแต่ละเขต และจะไม่ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศเหมือนในอดีตว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะวิธีการเดิมมีข้อดีและใช้มานาน

อีกทั้งการใช้เบอร์เดียวกันในพรรคเดียวกัน ทั้งประเทศ ทำให้ประชาชนจำได้ง่ายว่า จะสนับสนุนพรรค และผู้สมัครของพรรคใด เพื่อลดปัญหาบัตรเสีย และไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง

ดังนั้นจึงควรสร้างระบบที่ง่ายต่อการเลือกของประชาชน โดยใช้เบอร์ เดียวกันทั้งประเทศ และหวังว่า กรธ.จะเปิดใจรับฟังฝ่ายต่างๆในการร่างกฎหมาย เพื่อให้การเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ง่าย และไม่สับสน

"นิพิฏฐ์"แนะคงรูปแแบบเดิมเบอร์ผู้สมัครส.ส.

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่กรธ.มีแนวคิดใหม่เรื่องเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์หมายเลขเหมือนกันนั้น คงหมายความว่า ต่อไปนี้ผู้สมัครแต่ละเขตพื้นที่อาจได้หมายเลขไม่เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลก และจะทำให้คนสับสน มีปัญหาทั้งในแง่ความสะดวกของผู้หาเสียง และประชาชนผู้ไปลงคะแนน ดังนั้นการใช้เบอร์แบบเดิม คือ ให้ผู้สมัครของพรรคมีหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศน่าจะดีกว่า ขอว่า อย่าไปเขียนช่องทางใหม่เลย

"วิรัตน์"ชี้ข้อดีแยกเบอร์ผู้สมัครส.ส.ป้องกันซื้อเสียง

ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า แนวคิดการจัดเรียงหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.แบบใหม่ของ กรธ.มีข้อดีคือ ป้องกันนายทุนที่จ้องจะซื้อเสียง และป้องกันข้อครหา กรณีส่งใครลงเลือกตั้งก็ชนะ หรือ ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ได้ แต่ยอมรับว่า มีข้อเสียในมิติความสับสนของประชาชน ซึ่งการเลือกตั้งวิธีใหม่อาจมีผลต่อคะแนนบ้าง ถ้าประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง

กรธ.แจงผู้สมัครส.ส.หลายเบอร์ช่วยสร้างความเท่าเทียม

ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ (6ส.ค.) เป็นวันที 4 และเป็นวันสุดท้ายของการเดินทางไปพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ นอกสถานที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่โรงแรมรอยัล พลาคลิฟ บีช รีสอร์ทแอนด์สปา จ.ระยอง หลังเดินทางมาหารือตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา

ภายหลังการหารือ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. แถลงผลการพิจารณาร่างกฎหมายลูกการเลือกตั้งส.ส.ว่า ที่ประชุมกรธ.ได้พิจารณาประเด็นในร่างกฎหมายส.ส. เพิ่มเติมอีก5ประเด็น ซึ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งในต่างประเทศ รวมทั้งการเปิดช่องให้นำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการลงคะแนนได้ ส่วนการประกาศผลการเลือกตั้ง หากไม่มีเหตุวุ่นวายให้ดำเนินการได้ภายใน7วัน นับจากวันเลือกตั้ง

นายนรชิต ยังกล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองท้วงติงร่างกฎหมายลูกส.ส. ที่กำหนดให้ผู้สมัครเลือกตั้งในเขตจับสลากเบอร์ในแต่ละเขต และจะไม่ใช้เบอร์เดียวเหมือนกันทั้งประเทศเหมือนในอดีตว่า ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ เปลี่ยนเป็นกาบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว จากเดิมที่กาสองใบ คือ เลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

ดังนั้น การให้ผู้สมัครในแต่ละเขตจับสลากเบอร์สมัครในแต่ละเขต จึงถือว่า ยุติธรรมกับทุกฝ่าย เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่หากพรรคการเมืองเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญก็สามารถเสนอความเห็นไปยังกรธ.หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณาได้

กรธ.พิจารณากฎหมายลูก 3 ฉบับสุดท้ายเสร็จแล้ว จ่อรีเซตตุลาการศาลฯ