ในวันนี้ (18เม.ย.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมส่งร่างกฎหมายพรรคการเมือง และร่างกฎหมาย กกต. ให้ สนช.พิจารณา โดย กรธ. ระบุหาก สนช. ปรับแก้ไข แล้วเกิดปัญหา สนช. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง ด้าน สนช. เตรียมนำกฎหมายลูก 2 ฉบับเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 21 เ

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (18 เม.ย.) กรธ.จะส่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยบทบัญญัติของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ที่จะส่งให้ สนช. จะไม่มีการปรับหลักการ หรือรายละเอียดจากที่ได้นำเสนอในเวทีการรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองไปก่อนหน้านี้

โดยยืนยันว่า กรธ.จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยยึดตามเนื้อหารัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่ใช่รับฟังพรรคใหญ่มากกว่าพรรคเล็ก หรือทำเพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

แต่เน้นวางหลักการให้พรรคการเมือง สามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศ และประชาชนได้เป็นหลักสำคัญ แต่ยอมรับว่า สนช. ยังมีความเห็นที่แตกต่าง และมีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา ซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์ของ สนช.ที่พิจารณาได้

แต่การแก้ไขรายละเอียด ต้องคำนึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และต้องคำนึงว่า การแก้ไขนั้น จะต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะหาก สนช.แก้ไขแล้วมีปัญหา หรือทำให้เวลายืดเยื้อออกไป สนช.ต้องรับผิดชอบ

ส่วนความเคลื่อนไหวของสนช. พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิป สนช. กล่าวว่า หลังจากได้รับร่างกฎหมายพรรคการ เมือง และร่างกฎหมาย กกต.จาก กรธ. แล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของวิป สนช. ในช่วงบ่าย วันที่ 18 เมษายนนี้ทันที เพื่อพิจารณากรอบเวลาการทำงาน ที่ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายลูก ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด

เบื้องต้น คือ เมื่อได้รับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว จะนำบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช. ในวันที่ 21 เมษายนนี้ และให้สมาชิกพิจารณาในวาระแรก จากนั้น จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับ โดยกำหนดให้มีสัดส่วนที่เป็นตัวแทนจาก กรธ. ร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย

โดยมีระยะเวลาปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ระหว่างนั้น สนช. จะจัดสัมมนานอกสถานที่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้สมาชิก สนช. พิจารณา และนำเสนอความเห็น

เมื่อกระบวนการดังกล่าวเสร็จ จะเข้าสู่วาระสอง คือ การอภิปรายเรียงรายมาตรา และวาระสามคือการลงมติว่า จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ดังนั้น ระยะเวลาที่ สนช. พิจารณาจะไม่เกินกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ตามรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานกรรมการพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายลูก ว่าด้วย กกต.ของ สนช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ในการพิจารณาร่างกฎหมาย กกต. ยังไม่มีการฟันธงว่า จะแก้ไขหรือไม่ แต่ในการพูดคุยกันนอกรอบ ได้พูดถึงเรื่อง กกต.จังหวัดว่า มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง รวมถึงการให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่แทนนั้น มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษา และประมวลความคิดเห็นเท่านั้น เพราะยังไม่เห็นร่างกฎหมายลูกตัวจริงของ กรธ. อย่างเป็นทางการ จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดว่า ต้องแก้ไขหรือไม่ จนกว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาอย่างเป็นทางการ หลังจากรับร่างกฎหมายจาก กรธ.แล้ว

ขณะที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ โฆษกคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายพรรคการเมืองของ สนช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่มีพลเอก สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธาน ได้พิจารณาศึกษามาแล้วล่วงหน้าในระดับหนึ่ง โดยเชิญพรรคการเมืองมาให้ความเห็น

พบว่า พรรคการเมืองทุกพรรคเห็นตรงกันว่า ร่างกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ มองพรรคการเมืองด้วยสายตาที่เป็นลบ มุ่งเน้นลงโทษพรรคการเมืองอย่างรุนแรง มากกว่าส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง รวมถึงไม่เห็นด้วย ที่จะให้สมาชิกพรรคต้องเสียค่าสมาชิกพรรคปีละ 100 บาท

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การให้พรรคการเมือง ต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 10,000 คน ภายใน 4 ปีนั้น พรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลาง คงไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาต่อพรรคเล็กในการหาสมาชิกพรรค จึงอาจจะต้องปรับให้เหมาะสม ส่วนการเซ็ตซีโร่พรรคการเมืองใหม่ทั้งหมดนั้น ยืนยันว่า สนช.ไม่ทำแน่นอน เพราะขัดต่อหลักการที่ กรธ.เสนอมา และทำไม่ได้อยู่แล้ว 

กรธ.เตรียมส่งกฎหมายลูก 2 ฉบับแรกให้ สนช.วันนี้