รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยืนยัน นายกฯ ยังดำรงตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม ได้ เพราะศาลรับคำร้องหยุดปฎิบัติหน้าที่นายกฯ และให้มาชี้แจงในระยะเวลา 15 วันเท่านั้น แต่ไม่ได้วินิจฉัยรวมกับตำแหน่งอื่นด้วย
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องคดี สว. ร้องถอดถอน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีคลิปเสียงสนทนา สมเด็จฮุน เซน และมีมติ 7 ต่อ 2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 2 ก.ค. 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะทีมกฎหมายรัฐบาล เปิดเผยว่า ระยะเวลาในการชี้แจง 15 วันของ น.ส.แพทองธาร คงต้องช่วยกันดู ส่วนเอกสารเรามีอยู่ครบถ้วนแล้ว เตรียมกันเอาไว้หมดแล้ว เพียงแค่นำมาเรียบเรียงหากมีอะไรเพิ่มเติมก็ว่ากันไป
ส่วนการดำรงตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม นั้น นายชูศักดิ์ เผยว่า ความเห็นของนักวิชาการหรืออดีตศาลบางท่านบอกว่าเป็นคุณสมบัติเดียวกันกับนายกฯ ดังนั้นต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่เหมือนกัน ซึ่งตนมองว่าหากตีความอย่างนั้น แสดงว่าคุณวินิจฉัยแล้วว่านายกรัฐมนตรีผิดแล้ว ซึ่งความจริงแล้วศาลยังไม่ได้มีการวินิจฉัย เพียงรับคำร้องไว้และให้มาชี้แจงในระยะเวลา 15 วันเท่านั้น ดังนั้นในเมื่อศาลยังไม่วินิจฉัยว่านายกฯ ขาดคุณสมบัติ จึงถือว่านายกฯ มีคุณสมบัติเต็มที่ในแง่ของการทำหน้าที่รัฐมนตรี ที่ผ่านมาศาลก็มีคำสั่งให้หยุดบางตำแหน่งชั่วคราวก็มี รวมถึงในครั้งนี้ศาลก็ไม่ได้วินิจฉัยรวมกับตำแหน่งอื่นด้วย ซึ่งหากมาวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ที่ รมว. ก็ไม่ได้เพราะจะเป็นการกระทำเกินคำร้อง
เมื่อถามว่าหากมีคนไปร้องในภายหลังกรณีของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่จะนำ ครม.ชุดใหม่ ถวายสัตย์ปฏิญาณ นายชูศักดิ์ เผยว่า ตอนนี้เป็นขั้นตอนการถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว ส่วนตัวตนคิดว่าไม่มีที่อะไรข้ามขั้นตอน เมื่อถามว่าต้องถามกฤษฎีกาก่อนนำเข้าถวายสัตย์หรือไม่ นายชูศักดิ์ หัวเราะแล้วเผยว่า "จะตอบอย่างไร จะทันหรือเปล่า"
เมื่อถามว่าขณะนี้หลายคนมองว่านักกฎหมายของพรรคเพื่อไทยไม่ค่อยมีประสิทธิภาพทำคดีแพ้มาโดยตลอด จะมีการหาปรึกษาทีมกฎหมายเพิ่มเติมหรือไม่ นายชูศักดิ์ เผยว่า หากพูดแบบนั้นก็ให้คิดกันไป แต่ส่วนตัวเราทำงานเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องรับรู้คือตนย้ำมาตลอด ว่ากฎหมายที่มีตอนนี้ต้องไปทบทวนว่ามีความเป็นธรรมมากน้อยเพียงใด เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตถือว่าเป็นเรื่องที่ชัดเจนมากที่สุด เรื่องจริยธรรมตนเคยบอกว่าแล้วว่ามันไม่มีเกณฑ์มาตราฐานที่แน่นอน กลายเป็นดุลพินิจของศาลที่รับไว้แล้วค่อยว่ากันไป ที่ผ่านมามีการเคยเสนอว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ หากฝ่ายกฎหมายไม่มีประสิทธิภาพก็คงคงไม่ปฏิเสธอยากให้ดูถึงรากเหง้าของปัญหา