NEDA ครบรอบ 20 ปี เดินหน้ายกระดับพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA เปิดเผยถึงความสำเร็จตลอด 20 ปี ในการก่อตั้งสำนักงานฯ ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านแนวคิด “พลังร่วม” และการยกระดับความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จากการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการกว่า 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศ สปป.ลาว ประเทศเมียนมา ประเทศเวียดนาม ประเทศภูฏาน ประเทศศรีลังกา และประเทศติมอร์-เลสเต โดยใช้วงเงินทั้งสิ้น 24,226.33 ล้านบาท ในโครงการความร่วมมือทางการเงินและทางวิชาการ และวงเงิน 36.90 ล้านบาท ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

โดย NEDA เดินหน้าก้าวสู่ทิศทางใหม่ที่เน้นการสร้างมูลค่าข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจข้ามพรมแดน การสร้างผลตอบแทนทางสังคมข้ามพรมแดน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน

ซึ่งในขณะมีโครงการสำคัญในประเทศเพื่อนบ้าน แบ่งออกเป็น 4 ประเทศเป้าหมายหลัก ได้แก่ ประเทศกัมพูชา มีโครงการปรับปรุงถนน NR67 และ NR68

โครงการพัฒนาด่านสตึงบท , โครงการปรับปรุงถนน NR57 และ โครงการ Livable, Resilient and Water Secure Cities Investment Program (tranche 2)

ส่วนที่ประเทศสปป.ลาว มีโครงการสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5, โครงการ R12 โครงการสะพานเชียงแมน-หลวงพระบาง และโครงการพัฒนาระบบประปาแห่งที่ 2 ที่ประเทศเมียนมา มีโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง และสุดท้ายประเทศติมอร์-เลสเต จะมีโครงการปรับปรุงศูนย์อนามัยแม่และเด็ก BEmONC ร่วมกับ UNFPA

โดยโครงการต่างๆ ในนานาประเทศข้างต้นทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางความร่วมมือทางการเงินในอนาคต อาทิ การระดมทุนด้วยพันธบัตรเพื่อสังคม ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2568 เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการสนับสนุนโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ทางสังคม ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืน และเป็นความร่วมมือทางการเงินผ่านสกุลเงินหลัก เช่น สกุลเงิน USD และ EURO เพื่อรองรับการดำเนินโครงการในประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการบริหารจัดการทางการเงิน รวมถึงรองรับการขยายบทบาทและโอกาสความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการวางกรอบ Climate Resilient Projects ที่มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการต่าง ๆ สามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ การวางแผน การบริหารจัดการ ไปจนถึงการติดตามประเมินผล

โดยเน้นความยั่งยืนและการบรรลุเป้าหมาย SDG 13 และเป็นการผลักดันการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน Public-Private Partnership (PPP) และ Blended Finance เพื่อให้สอดคล้องกับความพร้อมของแต่ละโครงการและเป็นปัจจุบัน และดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้น โดยแผนร่วมลงทุนฯ ได้ครอบคลุมถึงโครงการที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นการระดมทรัพยากรทางการเงิน ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมจากหลายภาคส่วนจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการเสริมสร้างความยั่งยืน และลดภาระทางการเงินของภาครัฐได้อีกด้วย