คลังเล็ง "หวยเกษียณ" หวังแก้ปัญหาคนไทยไร้เงินออมตอนแก่

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีปัญหาประชาชนเข้าสู่วัยเกษียณ แต่ไร้เงินเก็บปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว และปัญหานี้แก้ไม่ได้ด้วยการอัดงบประมาณในรูปแบบเบี้ยคนชราจำนวนสูงๆ ซึ่งในที่สุดแล้วระบบงบประมาณไม่มีทางรับไหว ดังนั้นกระทรวงการคลังกำลังพิจารณานโยบาย “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “สลากเกษียณ” หรืออย่างไม่เป็นทางการว่า “หวยเกษียณ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออมที่สามารถถอนเงินซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนเกษียณ อายุ 60 ปี

สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นและอาจสามารถเปลี่ยนได้ภายหลัง ประกอบด้วย 1.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออกสลากขูดแบบดิจิทัลใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับสมาชิก กอช. ผู้ประกันตน ม. 40 และแรงงานนอกระบบ กลุ่มเป้าหมายจะเพิ่มเติมภายหลัง ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน

2.สามารถซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น.ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม 3.รางวัลของ “ทุกวันศุกร์” กำหนดดังนี้ (อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)3.1.รางวัลที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท จำนวน5 รางวัล 3.2.รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาทจำนวน 10,000 รางวัล

4.“เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก” (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช. จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้

นายเผ่าภูมิกล่าวอีกว่า นโยบายนี้จะเข้าแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล ต้องอาศัยการออมที่ผูกกับแรงจูงใจ ซื้อสลาก ถูกกฎหมาย เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ ถูกรางวัลได้เงินเลย ไม่ถูกทุกบาททุกสตางค์จะถูกเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก มีเงินออมมาก ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะมีผลตอบแทนให้หรือไม่ เนื่องจากการบริหารมีต้นทุน

“ปัจจุบันรัฐบาลมีการงบฯในการดูแลผู้สูงอายุปีละหลายแสนบาท แต่หวยดังกล่าวใช้งบฯดำเนินการเฉลี่ยเพียงสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท คิดเป็นเดือนละ 60 ล้านบาท หรือปีละ 700 ล้านบาท ซึ่งนโยบายนี้อยู่ระหว่างขัดเกลารายละเอียด และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกองทุนการออมฯเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้เวลา ประมาณ 6 เดือน-1 ปี ไม่เกิดขึ้นเร็วอย่างแน่นอน แต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด” นายเผ่าภูมิ กล่าว