วันที่ 10 เม.ย. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำแถลงข่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 พร้อมกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลมีความยินดี จะประกาศให้ประชาชนทราบว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยรัฐบาลได้ใช้ความพยายามอย่างสูงสุด ฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เพื่อพลิกชีวิตให้กับประชาชนและที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส 3  และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4 ของปีนี้ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด โลกออนไลน์ได้ติดแฮชแท็ก #ดิจิทัลวอลเล็ต แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าว จนพุ่งขึ้นติดเทรน์ทวิตเตอร์ (X) อันดับ 1 อีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางและรายละเอียดโครงการมีไว้ดังนี้

1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

2.เงื่อนไขการใช้จ่าย
1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2. เงื่อนไขการใช้จ่าย 

2.1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น  
2.2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า 

การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า 
3.ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
4. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย   

5. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องของการทุจริต

6. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

7. เพื่อป้องกันการทุจริตของโครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกรรมการ และที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล wallet โดยมีตนเอง คือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธานมีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดโครงการและระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไข และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานงานและการประชาสัมพันธ์โครงการ

ทั้งนี้ ในวันนี้คณะกรรมการมีมติเห็นชอบในทุกประเด็นและมอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการและกรรมการ นำมติที่ได้รับการเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายนนี้