ถอดบทเรียนจาก "วรรณกรรมสามก๊ก" ตำราพิชัยสงครามในการทำศึก สงคราม การปกครอง การเมือง รวมถึงในโลกยุคใหม่ได้มีการประยุกต์มาใช้ในแวดวงธุรกิจ กับคำถามที่ว่า "ทำไมก๊กเล่าปี่มีคนเก่งเพียบ แต่รวมแผ่นดินไม่สำเร็จ ?"

วรรณกรรมสามก๊ก ได้รับการยกย่องว่า เป็นทั้งตำราพิชัยสงครามในการทำศึก สงคราม การปกครอง การเมือง รวมถึงในโลกยุคใหม่ได้มีการประยุกต์มาใช้ในแวดวงธุรกิจ อีกทั้งมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จและความล้มเหลวจากการเดินหมากของแต่ละก๊ก

โดยยุคดังกล่าวเป็นช่วงสงครามกลางเมืองในแผ่นดินจีนโบราณ มีกกต่างๆ มากมายที่ต่อสู้ห่ำหั่นกัน จนกระทั่งเหลือเพียงสามก๊ก ประกอบด้วย 1. “วุยก๊ก” ของ “โจโฉ” 2. “ง่อก๊ก” ของ “ซุนกวน” และ 3. “จ๊กก๊ก” ของ “เล่าปี่

ซึ่งในบทความชิ้นนี้ “สูตรสำเร็จ” ขอโฟกัสไปที่ “จ๊กก๊ก” (ก๊กของเล่าปี่) ที่ผู้นำมีคุณสมบัติพิเศษสามารถซื้อใจคนเก่งๆ ระดับเจ๋งเป้งมารวมทีมได้มากมาย แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถรวมแผ่นดินจีนได้สำเร็จ โดยขอวิเคราะห์และเล่าสู่กัน ดังต่อไปนี้

1. คนเก่งขั้นเทพของ “จ๊กก๊ก”

ถ้าเปรียบเป็นการทำธุรกิจแบบสตาร์ต-อัปแล้ว “จ๊กก๊ก” หรือก๊กของเล่าปี่ มีจุดเริ่มต้นจาก 3 คน ประกอบ “เล่าปี่” พี่ใหญ่ , “กวนอู” พี่รอง และน้องเล็ก “เตียวหุย” ความสัมพันธ์ของทั้งสามแนบแน่นในระดับพี่น้องร่วมสาบาน

โดยทั้ง “กวนอู” กับ “เตียวหุย” ถือได้ว่าเป็นนักรบขั้นเทพ ฝีมือการทำศึกเยี่ยมยุทธ์ในระดับต้นๆ ของยุค และต่อมาแม้จะมีคนเก่งๆ เข้ามาร่วมทีมอีกมากมาย แต่ “เล่าปี่” ก็ไม่สามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ กระทั่งได้ “จูกัดเหลียง” หรือ “ขงเบ้ง” มาเป็นกุนซือ หลังจากนั้นก๊กของ “เล่าปี่” ก็โดดเด่นขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็ว จนกลายเป็น 1 ใน 3 ก๊กใหญ่ของแผ่นดินได้ในที่สุด

คนเก่งๆ ในฝ่ายบู๊ของ “เล่าปี่” นอกจาก “กวนอู , “เตียวหุย” แล้ว ก็ยังมี “จูล่ง” , “ฮองตง” และ “ม้าเฉียว” ฯลฯ

ส่วนฝ่ายบุ๋นก็มีมากมายเช่นกัน โดยในยุคนั้นมีผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นสุดยอดกุนซืออยู่ 2 คน นั่นก็คือ “ขงเบ้ง” กับ “บังทอง” ที่ว่ากันว่า เพียงแค่ได้ใครคนใดคนหนึ่งมาเป็นพวก ก็มีโอกาสกลายเป็นก๊กใหญ่ได้ในระดับไร้เทียมทาน ซึ่ง “จ๊กก๊ก” ของ “เล่าปี่” ได้ทั้ง “ขงเบ้ง” กับ “บังทอง” มาเป็นกุนซือ แต่ก็ยังไม่อาจไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จ

 

 

2. “ยุทธศาสตร์หลงจง” โรดแมปสู่ความสำเร็จของ “จ๊กก๊ก”

บทเรียนจากสามก๊ก กรณีศึกษาของ “ก๊กเล่าปี่” เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญของ “ยุทธศาสตร์” ซึ่งนอกจากจะได้คนเก่งๆ มาร่วมทีมแล้ว ก็จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ดี และสิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์อย่างเคร่งครัด อาจปรับได้บ้างตามสถานการณ์ แต่ต้องไม่เปลี่ยนสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ

โดย “ยุทธศาสตร์หลงจง” ที่ “ขงเบ้ง” วางไว้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญ ดังนี้

ส่วนที่ 1 ก็คือ แนวทางการขึ้นเป็นก๊กใหญ่ ตรงนี้ “ขงเบ้ง” ให้ความสำคัญกับชัยภูมิ นั่นก็คือ “เล่าปี่” จะต้องยึด “เกงจิ๋ว” กับ “เอ๊กจิ๋ว” (เสฉวน) มาเป็นฐานที่มั่นให้จงได้ ต่อมาเมื่อ “เล่าปี่” ทำได้ตามแผนก็กลายเป็นก๊กใหญ่ขึ้นมาทันที

ส่วนที่ 2 หลังจากกลายเป็นก๊กใหญ่หนึ่งในสามก๊กแล้ว “ขงเบ้ง” ก็กำชับให้ “เล่าปี่” ต้องรักษาไมตรีเป็นมิตรกับ “ง่อก๊ก” (ก๊กของซุนกวน) และรบกับ “วุยก๊ก” (ก๊กของโจโฉ) ต่อเมื่อกำราบ “วุยก๊ก” ได้แล้ว ค่อยหันกลับมาเผด็จศึก “ง่อก๊ก”

 

3. “เกงจิ๋ว” ปมความขัดแย้งระหว่าง “จ๊กก๊ก” กับ “ง่อก๊ก”

ก่อนอื่นต้องขอเล่าย้อนความเป็นมาของ “เกงจิ๋ว” ที่กลายเป็นชนวนแตกหักจนทำให้ “จ๊กก๊ก” กับ “ง่อก๊ก” ต้องมาเปิดศึกกัน ทำให้ “ยุทธศาสตร์หลงจง” ที่ “ขงเบ้ง” วางไว้ต้องแหลกสะบั้น

ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเดิมทีปกครองโดย “เล่าเปียว” ญาติของ “เล่าปี่” และต้องการยกให้ “เล่าปี่” เป็นผู้ปกครองคนต่อไป แต่ตอนนั้น “เล่าปี่” เกรงจะถูกครหานินทาว่าแย่งชิงแผ่นดินหลาน (ลูกของเล่าเปียว) จึงปฏิเสธ ต่อมา “เกงจิ๋ว” ก็ตกเป็นของ “โจโฉ” แห่ง “วุยก๊ก”

และเมื่อ “ขงเบ้ง” เข้ามาเป็นกุนซือของ “เล่าปี่” ก็เน้นย้ำว่า ถ้าต้องการเป็นเบอร์หนึ่งของแผ่นดิน “เล่าปี่” ต้องยึด “เกงจิ๋ว” ให้ได้ กระทั่งหลัง “ศึกยุทธนาวีผาแดง” ที่ “เล่าปี่” กับ “ซุนกวน” แท็กทีมกันสู้ศึกกับ “โจโฉ” และได้รับชัยชนะในที่สุด ขงเบ้งก็วางแผนให้กองกำลังของ “จ๊กก๊ก” เข้ายึด “เกงจิ๋ว” ในทันที

ซึ่งการกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ “ซุนกวน” เป็นอย่างมาก เพราะ “เกงจิ๋ว” เป็นชัยภูมิที่ “ง่อก๊ก” หมายปองไว้เช่นกัน และคิดว่าใน “ศึกผาแดง” ฝ่ายของ “ง่อก๊ก” ทุ่มทั้งกำลังทรัพย์และกำลังทหารมากกว่าฝ่ายของ “จ๊กก๊ก” ดังนั้นจึงสมควรได้ “เกงจิ๋ว” เป็นสิ่งตอบแทน

และเพื่อไม่ให้เกิดความบาดหมางจนถึงขั้นเปิดศึกกัน จึงตกลงกันว่า “ง่อก๊ก” จะให้ “จ๊กก๊ก” ยืม “เกงจิ๋ว” เป็นฐานที่มั่นไปก่อน แต่จนแล้วจนรอด “จ๊ก ก๊ก” ก็ไม่ยอมคืน “เกงจิ๋ว” สักที มิหนำซ้ำยังมอบหมายให้ “กวนอู” มาปกครอง “เกงจิ๋ว” เพื่อป้องกันการบุกโจมตีชิงเมือง

โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ “ขงเบ้ง” พยายามเดินเกมรักษาความสัมพันธ์กับ “ง่อก๊ก” แต่ก็ต้องรักษา “เกงจิ๋ว” ไว้ให้ได้ด้วย เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตาม “ยุทธศาสตร์หลงจง” ที่วางไว้

 

 

4. “จ๊กก๊ก” VS “ง่อก๊ก”

เวลาล่วงเลยผ่านไป แม้ “ซุนกวน” จะไม่พอใจที่ “จ๊กก๊ก” ไม่ยอมคืน “เกงจิ๋ว” ให้สักที แต่ก็ไม่กล้าบุ่มบ่าม พยายามเจรจาอย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างให้เกียรติ และดูเหมือนสถานการณ์กำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี เมื่อ “ซุนกวน” ได้ส่งทูตมาสู่ขอ “ลูกสาวของกวนอู” ให้เป็นภรรยาของลูกชายตน

แต่แทนที่ “กวนอู” จะรับไมตรี กลับปฏิเสธโดยกล่าวว่า “ลูกสุนัข (ลูกซุนกวน) ไม่คู่ควรกับคู่พยัคฆ์ (ลูกกวนอู)” ทำให้ “ซุนกวน” ฟิวส์ขาด ประกาศลั่นต้องสังหาร “กวนอู” เพื่อล้างความอัปยศให้จงได้ กระทั่งต่อมา “กวนอู” พลาดท่าหลงกล “ลกซุน” กุนซือของ “ง่อก๊ก” จนถูกจับตัวและสังหารในที่สุด

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นให้กับ “เล่าปี่” และ “เตียวหุย” เป็นอย่างมาก ทั้งสองประกาศก้องต้องบดขยี้ “ง่อก๊ก” ให้ราบเป็นหน้ากลอง โดยไม่สนยุทธศาสตร์ของ “ขงเบ้ง” อีกต่อไป ต่อมา “เตียวหุย” ได้เสียชีวิตระหว่างนำทัพไปบุก “ง่อก๊ก” ก็ทำให้ “เล่าปี่” ยิ่งโกรธแค้น “ซุนกวน” หนักขึ้นไปอีก

เมื่อสถานการณ์พลิกผัน “จ๊กก๊ก” กับ “ง่อก๊ก” กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาต ก็ทำให้ “ยุทธศาสตร์หลงจง” พังป่นปี้ หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี “เล่าปี่” ก็นำกองทัพขนาดมหึมาจำนวนมากมายหลายแสนบุก “ง่อก๊ก” ด้วยตัวเอง โดยไม่ฟังคำทัดทานจาก “ขงเบ้ง” แต่อย่างใด

 

5. จุดจบของ “เล่าปี่” และจุดจบของ “สามก๊ก”

ในการทำศึกดังกล่าว กองทัพของ “เล่าปี่” พ่ายแพ้อย่างยับเยิน ส่วนตัวเองก็บาดเจ็บสาหัส ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

หลังจาก “จ๊กก๊ก” ต้องพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ “อาเต๊า” บุตรของเล่าปี่ก็สืบทอดอำนาจต่อ ส่วน “ขงเบ้ง” ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการฯ และได้กลับมาดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์หลงจง” อีกครั้ง นั่นก็คือผูกมิตร “ง่อก๊ก” รบกับ “วุยก๊ก”

ต่อมา “ขงเบ้ง” ก็ป่วยหนักและเสียชีวิตในสนามรบ ระหว่างทำศึกกับ “สุมาอี้” สุดยอดกุนซือแห่ง “วุยก๊ก” หลายปีผ่านไป “วุยก๊ก” ก็สามารถบุกยึด “จ๊กก๊ก” ได้สำเร็จ ก่อนยึด “ง่อก๊ก” ทำให้ยุคสามก๊กต้องสิ้นสุดลงนับจากนั้น

โดยผู้ที่รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ไม่ใช่ทายาทของ “โจโฉ” แห่ง”วุยก๊ก” แต่กลับเป็น “สุมาเอี้ยน” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จิ้น ซึ่งเป็นหลานชายของ “สุมาอี้” อดีตกุนซือของ “วุยก๊ก” นั่นเอง

 

 

6. ถอดบทเรียนจาก "สามก๊ก"

แม้หลังจาก “เล่าปี่” เสียชีวิต “ขงเบ้ง” จะยอมกลืนเลือด ละทิ้งความรู้สึกเคียดแค้น เพื่อกลับไปดำเนินการตาม "ยุทธศาสตร์หลงจง" แต่จากการแหกยุทธศาสตร์ก่อนหน้านั้น ที่ทำให้สูญเสียบุคคลสำคัญทั้ง “กวนอู” , “เตียวหุย” และ “เล่าปี่” รวมถึงกำลังพลกว่า 7 แสนคน

ก็ต้องอาศัยระยะเวลาหลายปีกว่าจะทำให้ “จ๊กก๊ก” ที่กำลังเสียศูนย์ กลับมาตั้งหลักได้อย่างมั่นคง แต่ก็ไม่อาจแข็งแกร่งได้ดังเดิม กระทั่งสุดท้ายเมื่อต้องสูญเสีย “ขงเบ้ง” สุดยอดกุนซือไป “จ๊กก๊ก” ก็เข้าสู่การนับถอยหลัง ก่อนล่มสลายในเวลาต่อมา

 

Reference

วรรณกรรมสามก๊ก