อนุกรรมการ Digital Wallet เคาะ 3 ทางเลือกสแกน "คนรวย" ออกจากกลุ่มเป้าหมาย เตรียมเสนอบอร์ดชุดใหญ่ เน้นใช้งบประมาณ ซื้อสินค้าในเขตอำเภอ กระตุ้นใช้จ่ายในท้องถิ่น มอบ ธ.กรุงไทย พัฒนาระบบบล็อกเชน ยอมรับโอนเงินล่าช้าหลัง เม.ย. 2567 ร้านค้าขึ้นเงินต้องอยู่ในระบบภาษี

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปบางประเด็น และมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย ยืนยันเดินหน้าโครงการโอนเงินดิจิทัลให้กับประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐ จึงได้จัดทำข้อเสนอทางเลือกต่อคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงถัดไป เพื่อพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ประกอบด้วย

กลุ่มเป้าหมายจากเดิมโอนเงินให้กับทุกคนอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท เปลี่ยนเป็นการจัดทำทางเลือกกลุ่มเป้าหมาย ให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจเลือกกลุ่มเป้าหมายได้รับการช่วยเหลือ คือ



1. กลุ่มรายได้หรือเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาท และ/หรือมีเงินฝาก 1 แสนบาท ไม่ควรได้รับการโอนเงินดิจิทัล มีจำนวน 43 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

2. กลุ่มรายได้หรือเงินเดือนมากกว่า 50,000 บาท และ/หรือมีเงินฝาก 5 แสนบาท ไม่ควรได้รับการโอนเงิน มีจำนวน 49 ล้านคน ใช้เงิน 4.9 แสนล้านบาท

3. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มผู้ยากไร้ มีจำนวน 15-16 ล้านคน ใช้เงิน 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มควรได้รับการช่วยเหลือ คณะอนุกรรมการฯ อยากเสนอตัดสิทธิผู้มีรายได้สูง แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดชุดใหญ่ตัดสินใจ

รัฐบาลยังใช้แนวทางการยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC ตามกรอบเดิม โดยใช้ฐานข้อมูลเดิม ซึ่งเคยยืนยันตัวตนไว้กับภาครัฐ จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเข้าร่วมโครงการ สำหรับบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน ส่วนจะเปิดดำเนินการเมื่อไรจะประกาศอีกครั้ง



ด้านการใช้จ่าย มุ่งเน้นสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ในเขตอำเภอ เพื่อกระจายรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่น ถือว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มากเกินไป ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 6 เดือน หากใช้ไม่หมด จะถูกตัดส่งคืนคลัง จึงตัดทางเลือกเขตตำบล และระดับจังหวัด สำหรับการขึ้นเงินดิจิทัลเป็นเงินบาท ทำได้เฉพาะร้านค้าอยู่ในระบบภาษี ทั้งการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนแหล่งที่มาของเงินรองรับโครงการ ทำข้อเสนอ 3 ทางเลือก คือ 1. การใช้เงินงบประมาณเป็นหลัก 2. การใช้แหล่งเงินกู้ ด้วยหลากหลายวิธี 3. การใช้แนวทางกึ่งการคลัง ตามมาตรา 28 ด้วยการกู้เงินจาก ธ.ออมสิน ยอมรับว่าเคยสนใจ แต่ขอเป็นทางเลือกสุดท้าย คณะอนุกรรมการฯ มุ่งเน้นเสนอใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ในรูปแบบงบผูกพันต่อเนื่อง 4 ปี ใช้งบประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท รวมยอดเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท

ในด้านผู้บริหารและดำเนินการระบบ มอบหมายให้ ธ.กรุงไทย จัดทำแพลตฟอร์มใหม่ที่เป็นระบบบล็อกเชน มีความปลอดภัย เนื่องจากเคยสร้างแอปฯ เป๋าตัง มาใช้รองรับบัตรสวัสดิการฯ และบริการต่าง ๆ ของรัฐในช่วงที่ผ่านมา โดยสร้างระบบขึ้นใหม่ แยกจากแอปฯ เป๋าตัง ด้วยการโอนฐานข้อมูลเดิมเข้ามาใช้ ยืนยันใช้เงินสร้างระบบไม่ถึง 12,000 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าว ยอมรับว่า ขั้นตอนการจัดทำระบบเงินดิจิทัล ต้องทดสอบเพื่อความปลอดภัย และการใช้งบประมาณอาจทำให้การโอนเงินดิจิทัลมีความล่าช้า หลังเดือนเมษายน 2567 พร้อมกับการใช้งบประมาณโครงการของรัฐ