ประชาชนเสียงแตก หลังนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ลงชื่อค้านแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท บางส่วนเห็นด้วย เพราะหวั่นโครงการจะสร้างหนี้สาธารณะเพิ่ม ก่อภาระระยะยาว ขณะที่บางส่วนบอกเสียดาย เพราะเงินนี้ช่วยต่อลมหายใจ เชื่อไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง

จากกรณีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ 99 คนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้เหตุผลว่าได้ไม่คุ้มเสียนั้น

ทีมข่าวช่อง 8 ลงพื้นที่สอบถามความเห็นประชาชนส่วนหนึ่งที่อยู่ในเกณฑ์มีสิทธิ์รับเงินจากนโยบายดังกล่าว พบว่ามีทั้งส่วนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านครั้งนี้ โดยบางส่วนมองว่าเป็นความคิดแบบเดิมๆ ขอให้ทดลองแจกไปก่อน หากทำไม่ได้สามารถยกเลิกภายหลังได้ แต่บางส่วนก็ยอมรับว่าไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินตั้งแต่แรก และควรมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่านี้

เช่นนางสาวอัจฉรา เจริญลาภ มองว่าประชาชนน่าจะเสีย ความรู้สึกว่ามีนโยบายออกมาแล้วมีความหวังให้ประชาชนแล้วแต่ทำไมถึงไม่ได้ไม่แจกเกินหากไม่แจกก็ต้องมีทางอื่นชดเชยให้ เพราะประชาชนเดือดร้อนอย่างมาก และนโยบายนี้ไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังและน่าจะทำให้เกิดเงินสะพัด ต่อลมหายใจให้ประชาชนได้

ขณะที่ นอ.สุทธิรักษ์ ดีทองคำ กล่าวว่าความเห็นค้านของนักวิชาการก็ต้องรับฟัง เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ แต่ในมุมของประชาชนทั่วไปก็มองสองแบบ คือหากคิดในมุมนักธุรกิจก็ต้องกล้าทำ เพราะคนที่กล้าเสี่ยงก็อาจจะไปต่อได้ ขณะที่นักวิชาการที่มีประสบการณ์ก็น่าเชื่อถือ สำหรับตนไม่ว่าจะออกมาแบบไหนก็ต้องยอมรับ ต้องไปด้วยกัน เพราะลงเรือลำเดียวกัน ต้องเสี่ยงไปด้วยกัน และส่วนตัวหากไม่ได้มีการแจกเงินขึ้นมาก็ไม่ได้รู้สึกเสียดายเพราะห่วงเรื่องหนี้สาธารณะว่าอาจจะเพิ่มขึ้นจะเป็นภาระลูกหลานได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็แอบหวังว่าหากลองฉีกแนวก็อาจจะทำให้มีความหวังขึ้นมาได้

ด้านนายสุภัทร กิตติภิญโญ มองว่าความกังวลก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังไม่ได้เกิดการทำจริง ขอให้ลองทำดูก่อนหากไม่ไหวสามารถหยุดกลางคันได้ รัฐบาลก็ทำตามนโยบายที่เสนอไว้ ตนไม่เสียดายถ้าไม่แจกเพราะถูกคัดค้าน แต่ขออย่าขัดขาดเลย เพราะรัฐบาลก็มีแนวคิด คนอยู่วงนอกอาจจะไม่รู้ ตนสนับสนุนให้มีการแจกเพื่อให้มีการแจกจ่ายทั่วถึง ประเทศไทยไม่มีโครงการแบบนี้มาก่อน ควรให้ลองทำดูก่อนหากไม่ไหวรัฐบาลก็จะหยุดเอง พร้อมถามกลับว่าถ้ารัฐบาลทำสำเร็จนักวิชาการจะยอมรับหรือไม่

ด้านนางสาวธัญวรัตน์ วิฬา กล่าวว่าจริงๆไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ตั้งแต่แรกเพราะเงิน 10,000 ไม่ได้เป็นการจ่ายแบบเจาะจง แต่หว่านแห และมียอดเงินมหาศาล รวมถึงยังไม่รู้ว่าที่มาของเงินว่สมาจากไหน หากกู้มาแล้วประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อนโดยตรง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น แต่เป็นหนี้ในระยะยาว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแจกหากทำให้มีหนี้ที่ต้องรับภาระต่อ และไม่เสียดายหากไม่มีการแจกเงิน อยากให้รัฐบาลหานโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากกว่า ไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะเดียวแล้วเป็นหนี้ระยะยาว

ส่วนนางสาวชนันท์ธิดา คุณธรรม ระบุว่าจริงๆก็ไม่เสียดายหากไม่มีการแจกเงิน เพราะมองว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ แต่ถ้ามีให้ประชาชนที่ยากจนหรืออยากได้ก็เป็นเรื่องดี แต่หากรัฐบาลยังไม่พร้อมที่จะให้ ก็ยังไม่เป็นไร อาจจะหาวิธีอื่นๆเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้ ส่วนเรื่องการก่อหนี้สาธารณะมองว่ารัฐบาลน่าจะมีวิธีรองรับเพราะหากจะออกนโยบายมาในลักษณะนี้ก็คงมีแนวทางรองรับโครงการมาอย่างดีแล้ว