"รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล" ให้สัมภาษณ์กับ "ข่าวช่อง 8" วิเคราะห์อนาคต "รัฐบาลเศรษฐา" จะเป็นเช่นไร รวมถึงอายุของรัฐบาล จะอายุสั้นหรืออยู่ครบเทอม ?

“ข่าวช่อง 8” พูดคุยกับ “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย เกี่ยวกับอนาคตของ “รัฐบาลเศรษฐา” โดย “รศ.ดร.ธนพร” ได้วิเคราะห์แนวโน้มต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน “รัฐบาลเศรษฐา”

รศ.ดร.ธนพร ชี้ว่า การตัดสินใจจับมือตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้ว โดยมีพรรค 2 ลุงอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา จึงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลชุดนี้จะแก้ปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้างได้ ดังที่ประชาชนเป็นจำนวนมากเคยคาดหวังไว้

“การเมืองภาพใหญ่ การที่มีการกระโดดข้ามขั้วไปเป็นรัฐบาลในรอบนี้ มันก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้เปลี่ยนตัวเอง จากพรรคที่เคยเป็นหัวแถวเรื่องการต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตย กลายไปเป็นหัวแถวด้าน ‘อนุรักษ์นิยมใหม่ (Neo – Conservative)’

“เราจะสังเกตเห็นได้อย่างน้อย 3 ปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ที่ 1 คือ การอภิปรายของ ‘คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว’ ในวันโหวตเลือกนายกฯ ว่า ก่อนหน้านี้ที่ต้องจับมือกับ ‘ก้าวไกล’ เพราะรัฐธรรมนูญบังคับ ไม่เช่นนั้นไม่มีทางจับมือกับ ‘พรรคก้าวไกล’ อย่างเด็ดขาด

“ปรากฏการณ์ที่ 2 ‘พรรคเพื่อไทย’ เรียนรู้แล้วว่า หนทางที่ดีที่สุด คือการประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจ แล้วปรากฏการณ์ที่ 3 ก็คือ การที่ ‘คุณเศรษฐา’ ไปพบ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ซึ่งก็คือแกนนำอนุรักษ์นิยมตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

“โดย ‘คุณเศรษฐา’ เป็นคนริเริ่มไปขอพบ แม้ว่าจะมีเจตนาที่ดีเพื่อทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย แต่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การทำงานของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ในวันนี้ ก็คือการประนีประนอมกับขั้วอนุรักษ์นิยมเดิมในสังคมไทย

“เพราะฉะนั้นในภาพรวมจึงเห็นได้ว่า อะไรก็ตามที่เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นในเชิงโครงสร้าง เช่น ราคาพลังงาน การกระจายอำนาจ การเคารพเรื่องความแตกต่าง เรื่องชาติพันธุ์ต่างๆ เราจะไม่ได้เห็น รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

“เพราะคำแถลงจัดตั้งรัฐบาล ของ ‘นายกฯ เศรษฐา’ ไม่เคยพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็จะได้เห็นนโยบายคล้ายๆ กับ ‘พรรคไทยรักไทย’ ก็คือการแต่งหน้าทาปาก ทำให้มีสีสัน ทำให้ตื่นเต้น

“เช่น แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท , การขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี , การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ทำให้โครงสร้างทางสังคมที่มีปัญหา ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

“ขณะเดียวกันทางด้าน ‘บ้านป่ารอยต่อ’ ก็หมดสภาพโดยชัดเจน เพราะการที่ ‘พล.อ.ประวิตร’ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยไม่เข้าประชุมสภา แล้วไม่โหวตนายกฯ รวมถึง สว. (ในเครือข่าย) ก็มีจุดยืนเช่นเดียวกัน ทำให้ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ไม่ได้น่ากลัวสำหรับ ‘พรรคเพื่อไทย’ อีกต่อไป เพราะ ‘พรรคเพื่อไทย’ ก็มีอะไหล่ คือ สส.พรรคประชาธิปัตย์’ จำนวนนึ่ง ที่พร้อมเข้ามาเสียบแทน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ตลอดเวลา

“ดังนั้นก็ต้องตอบเลยว่า เกมการเมืองของ ‘บ้านป่ารอยต่อ’ รอบนี้ที่เจ๊ง ก็เพราะน้องชายสุดที่รักของ ‘พล.อ.ประวิตร’ ซึ่งก็คือ ‘ลุงตู่’ นั่นเอง” (สว.สายลุงตู่ โหวตให้เศรษฐาท่วมท้น แก้เกมพลังประชารัฐ)

2. เพื่อไทย ต้องยกโควต้า “มหาดไทย” ให้พรรคอื่น จะเสียดุลอำนาจหรือไม่ ?

ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พรรคเพื่อไทย” ต้องยอมยกกระทรวงสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะ “กระทรวงมหาดไทย” ที่คาดว่า “อนุทิน ชาญวีรกูล” จะเข้าป้ายเป็นเจ้ากระทรวงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ “พรรคเพื่อไทย” เสียดุลทางอำนาจหรือไม่นั้น “รศ.ดร.ธนพร” ได้แสดงความคิดเห็นดังนี้

“จริงๆ แล้ว กระทรวงสำคัญที่ ‘เพื่อไทย’ ต้องการมากที่สุด ไม่ใช่ ‘กระทรวงมหาดไทย’ เพราะ‘กระทรวงมหาดไทย’ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในยุคเก่า

“แต่ปัจจุบันกระทรวงที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ต้องการยึดให้ได้ และยึดสำเร็จแล้ว ก็คือ ‘กระทรวงการคลัง’ ครับ เพราะในการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกกระทรวงเมื่อเสนอเรื่องเข้า ครม. ถ้า ‘กระทรวงการคลัง’ เห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ยังไงก็ทำไม่ได้ นี่จึงเป็นอำนาจของ ‘กระทรวงการคลัง’

“แล้วอย่าลืมนะครับว่า นายกฯ เป็นผู้สั่งการโดยตรงกับ ‘สำนักงบประมาณ’ ถ้าสำนักงบฯ บอกไม่มีเงิน ‘กระทรวงการคลัง’ บอกทำไม่ได้ เป็นภาระทางการคลังของภาครัฐ ขัดระเบียบวินัยการเงินการคลัง ก็ไม่มีโครงการใดทำได้

“อีกกระทรวงหนึ่งที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ยึดเอาไว้ ก็คือ ‘กระทรวงการต่างประเทศ’ ผมเรียนตามตรงนะครับว่า กระทรวงอื่นๆ เวลาไปติดต่อกับต่างประเทศแบบไม่เป็นทางการก็ทำไปเถอะ แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อต้องการประสานสัมพันธ์ที่เป็นทางการ บทบาทของ ‘กระทรวงการต่างประเทศ’ จะสูงมาก

“เพราะฉะนั้นแล้ว การที่ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ได้ ‘กระทรวงมหาดไทย’ ผมจึงไม่คิดว่าทำให้สมดุลในการบริหารประเทศของ ‘พรรคเพื่อไทย’ สูญเสียไป แล้วเราอย่าลืมนะครับว่า วันนี้ทิศทางการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังจะก้าวมาแทนที่บทบาทของอำเภอ บทบาทของจังหวัด

“เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ ผมจึงไม่เห็นว่า การที่ ‘ภูมิใจไทย’ ได้เก้าอี้ ‘รมว.กระทรวงมหาดไทย’ จะไม่ทำให้อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ ‘พรรคเพื่อไทย’ แต่ประการใด

3.“รวมไทยสร้างชาติ” ได้ “กระทรวงพลังงาน” สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับ “พรรคเพื่อไทย”

“กระทรวงพลังงาน” เป็นกระทรวงในฝันของหลายๆ พรรค แต่คาดว่าพรรคที่จะได้ไปคือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” โดย “รศ.ดร.ธนพร” ชี้ว่า ในระหว่างการบริหารประเทศ จะสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับ “พรรคเพื่อไทย” เป็นอย่างมาก เนื่องจากยากที่ปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

“ผมคิดว่า ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จะเน้นไปที่การรักษาพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งก็คือทางด้านพลังงาน แต่ปัญหาของ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ที่ต้องการรักษาพื้นที่ของตัวเอง อันนี้แหละครับมันจะกระทบกับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ในเรื่องของราคาพลังงาน เรื่องค่าไฟ เรื่องราคาน้ำมัน ฯลฯ

“ซึ่งที่ผ่านมา ‘กระทรวงพลังงาน’ ในยุคลุงตู่ ก็ไม่ได้มีมาตรการที่คำนึงถึงผู้ใช้ มุ่งเน้นอุ้มผู้ผลิต (ผู้ประกอบการ) เพราะฉะนั้นแล้ว ‘กระทรวงพลังงาน’ จะเป็นกระทรวงที่สร้างความกระอักกระอ่วนที่สุดให้กับ ‘พรรคเพื่อไทย’

เพราะคำสัญญาของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ก็คือจะต้องลดราคาพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย แต่แล้ว ‘กระทรวงพลังงาน’ กลับอยู่ในความดูแลของ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ซึ่งคนบริหารก็คือคนหน้าเดิมๆ

“ประเด็นต่อมาก็คือ อำนาจแฝงของ ‘ลุงตู่’ จะไม่ได้อยู่ที่ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ แต่จะอยู่ที่ ‘กระทรวงกลาโหม’ ถึงแม้ ‘พรรคเพื่อไทย’ จะมีอดีตนายพลป็น สส. แล้วก็อยากเป็น ‘รมว.กระทรวงกลาโหม’ แต่ต้องเรียนตามตรงว่า นายพลที่อยู่ใน ‘พรรคเพื่อไทย’ ล้วนเป็นขั้วตรงกันข้ามกับ ผบ.เหล่าทัพ ในยุคปัจจุบันทั้งสิ้น

“ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ก่อนวาระสุดท้าย ‘ลุงตู่’ ได้ผ่าทางตันรีบทูลเกล้าโผ ผบ.เหล่าทัพเลย ก็แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ลุงตู่’ กับ ‘กระทรวงกลาโหม’ ดีมากแค่ไหน

“แล้วที่สำคัญโควต้า รมว.กลาโหม ก็จะกลายเป็นโควต้าซึ่ง ผบ.เหล่าทัพ และขั้วอำนาจเดิม ต้องให้ความเห็นชอบด้วย ว่าบุคคลที่จะมาป็น รมว. กลาโหม เป็นคนที่รับได้ ซึ่งก็ต้องเป็นคนของ ‘ลุงตู่’ นั่นเอง”

4. อายุของ “รัฐบาลเศรษฐา”

ส่วนอายุของรัฐบาลสลายขั้วชุดนี้ “รศ.ดร.ธนพร” ขอวิเคราะห์ขอสวนกระแส ฟันธงว่า “รัฐบาลเศรษฐา” อยู่ครบเทอมแน่นอน

“ผมคิดว่ารัฐบาลนี้จะอายุยืนครับ ประเด็นที่ 1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกจัดอยู่อันดับสุดท้าย แล้วก็ใช้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจมานำหน้า ถ้าจวนตัวก็ค่อยไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงปีที่ 2 ของรัฐบาล ก็ตั้ง ส.ส.ร. ประมาณปลายปี 2567

“กว่า ส.ส.ร. จะทำงานกัน กว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ปาเข้าไปกลางปี 2569 กว่าจะทำกฎหมายลูกเสร็จ กว่าจะได้ยุบสภา เลือกตั้ง ก็ประมาณต้นปี 2570 ก็เท่ากับรัฐบาลนี้อยู่ครบวาระ 4 ปี

“ซึ่งผมมองต่างจากท่านอื่นที่มองว่า รัฐบาลจะอายุสั้น ผมมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้อายุยืนยาว เพราะว่าขั้วอำนาจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ สส. ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระต่างๆ

ตราบใดที่จับ ‘ลุงโทนี่’ เป็นตัวประกันได้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ก็จะไม่มีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นแบบน่าเกลียด
โอกาสที่ฝ่ายค้านจะสำแดงฤทธิ์ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สอยคนนั้นคนนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก

“โอเคแหละ การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีแน่ แต่จะไม่มีเหตุผลจับให้มั่นคั้นให้ตายจนทำให้รัฐบาลล่ม ดังนั้นผมแทงสวนไว้ที่ ‘ข่าวช่อง 8’ เลยว่า รัฐบาลชุดนี้อยู่ครบ 4 ปีครับ”

ธนพร วิเคราะห์อนาคต "รัฐบาลเศรษฐา" อายุสั้น หรืออยู่ครบเทอม ?