ส่วนความคืบหน้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ CNN โดยระบุข้อความว่า

"เราจะชนะอย่างแน่นอนถ้าไม่ใช่ในทันที ผมอนุมัติให้พรรคอันดับ 2 คือพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป้าหมายไม่ใช่แค่ผมได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากวงจรเลวร้ายของเผด็จการทหาร"

ส่วนสถานะ ระหว่างพรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย เจี๊ยบ อมรรัตน์ มองว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกลยังคงยึดมั่นตามหลักการที่ได้มีการ MOU ลงบันทึกข้อตกลงกันไว้ แต่ทางพรรคเพื่อไทยนั้นจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ก็คงไม่อาจทราบได้ พรรคก้าวไกลก็ทำได้แค่เพียง เป็นฝ่ายรอให้พรรคเพื่อไทยตัดสินใจ แต่ถ้าหากว่าพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับสองพรรคคือพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ เจี๊ยบ อมรรัตน์ ในฐานะพรรคก้าวไกลก็คงคบกับพรรคเพื่อไทยไม่ได้อีกต่อไป เพราะถือเป็นการหักหลังประชาชนและตระบัดสัตย์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง และพรรคเพื่อไทย จะถึงขั้นล้มละลายได้เลย

และถ้าหากมองไปไกลๆเห็นการเลือกตั้งครั้งหน้า การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหากครั้งนี้เพื่อไทยตัดสินใจผิดการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็อาจจะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ด้วย

ส่วนการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยที่ในขณะนี้ทุกคนพุ่งเป้าไปที่คุณหมอชลน่าน เจี๊ยบ อมรรัตน์มองว่าจริงๆแล้วคุณหมอชลน่าน มีอำนาจในการตัดสินใจจริงๆในพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ส่วนแนวทางการเลื่อนเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป 10 เดือนจนกว่าสว.จะหมดวาระนั้น เจี๊ยบอมรรัตน์มองว่าถ้าไม่รอแบบนี้ มันจะเสียหายไปมากกว่านี้ แต่ถ้าหากใครรอไม่ได้ก็ให้ไปบอกกับสว.เอา เพราะคนที่สร้างเงื่อนไขการเลือกนายกรัฐมนตรีนี้ ไม่ใช่นักการเมืองหรือสส.แต่ก็เป็นเพราะสว. นั่นแหละ

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่าควรจะต้องมีทางออก และทางออกก็ต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันของ 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล ส่วนหากท้ายที่สุดจะร่วมทำงานด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ทีมเจรจาต้องหาข้อสรุปกัน แต่ส่วนตัวย้ำจุดยืนเดิมทุกประการ เคยพูดอะไรไว้อย่างไรก็ยังมีความเห็นแบบนั้น

เมื่อถามว่าสภาวะประเทศจำเป็นต้องมีรัฐบาลโดยเร็วหรือไม่ นายณัฐวุฒิ บอกว่าถ้าเร็วได้มันก็ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าช้าก็ต้องดูว่าช้าเพราะอะไร และถ้าล่าช้ามีความพยามทำให้เร็วขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนการยืนยันว่าอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร จะมีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนั้น นายณัฐวุฒิ ระบุก็เพิ่งทราบจากข่าว

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ 1 ใน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล กล่าวถึงข้อเสนอการแก้ไข MOU ของ 8 พรรคร่วมว่า เนื่องจาก MOU ที่มีการเขียนเมื่อครั้งแรก เพื่อสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนโยบายทั้ง 23 ข้อ เป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล แต่เมื่อขณะนี้พรรคก้าวไกล ส่งไม้ต่อให้กับพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จึงเห็นว่า MOU ที่เคยทำ ไม่สามารถใช้ได้แล้ว จึงเสนอให้พรรคเพื่อไทยทำ MOU ใหม่ ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะทำใหม่หรือไม่ ก็ถือเป็นสิทธิ์ของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งการจะนำพรรคใดเข้ามาร่วมรัฐบาล เพื่อให้ได้เสียงครบ 375 เสียง หรือจะยึดมั่นใน 8 พรรคก็ได้

เมื่อถามว่า หากมีการฉีก MOU เดิมจะกระทบความสัมพันธ์กับ 8 พรรคร่วมหรือไม่ นายเชาวฤทธิ์ ระบุว่า ก็อยู่ที่พรรคเพื่อไทยว่า จะยึดถือ MOU เดิม หรือจะแก้ไขให้สนับสนุนแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แต่พรรคร่วมก็ยังเหมือนเดิม เพียงแค่เปลี่ยนข้อความเท่านั้น เพราะเท่าที่อ่านดูแล้วใน MOU ทุกข้อเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลทั้งหมด โดยหากมีการประชุม 8 พรรคร่วม ตัวเองก็จะนำเรื่องนี้เข้าไปประชุมหารือด้วย

ส่วนเสียงของ 8 พรรคร่วมขณะนี้ที่มี 312 เสียง อาจจะไม่พอสนับสนุน ควรจะดึงพรรคที่ 9 พรรคที่ 10 เพิ่มหรือไม่ นายเชาวฤทธิ์ บอกว่า ก็อยู่ที่พรรคเพื่อไทย เพราะทั้ง 8 พรรค มอบหมายให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการประสานพรรคการเมืองอื่น รวมถึงหาเสียงสนับสนุนจากสว. ส่วนถ้าจะมีพรรคอื่นเข้ามาร่วมด้วยตัวเองนั้นไม่ติดใจอะไร เพราะได้มอบหมายให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับกรณีพรรคก้าวไกลออกมาบอกว่าที่พรรคเพื่อไทยเดินสายคุยกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม เป็นการยืมมือเพื่อนสลัดก้าวไกล ว่า ไม่ใช่แบบนั่น เพราะที่พรรคเพื่อไทยเชิญพรรคการเมืองต่างขั้ว เข้ามาพูดคุย เพียงแค่เป็นการปรึกษา หารือทางออก และให้คำแนะนำว่ามีปัญหาตัดขัดตรงไหนที่ 8 พรรคร่วมจะต้องแก้ไขอย่างไร

ขณะที่ นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง ชี้แจงถึงความสัมพันธ์ภายใน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ว่า 8 พรรคร่วมฯ เข้าใจดีถึงการเลื่อนประชุมของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเหตุผลเรื่องความคืบหน้าของการรวมเสียง สส.และ สว. ตนไม่ได้รู้สึกหนักใจ ส่วนที่ตนไม่ได้ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เนื่องจากช่วงนี้เดินสายเข้าเจรจากับ สว. หลายคน โดยหลายคนรับปากว่าจะช่วยโหวตแคนดิเดนนายกรัฐมนตรีจากฝั่ง 8 พรรคร่วมฯ ในครั้งหน้า

นายวสวรรธน์ ยังย้ำว่า ตอนนี้ตัวเลข 312 เสียงของ 8 พรรคร่วมฯ คือทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ ยังคงจับมือกันอย่างเหนียวแน่น มีทั้งความหวังและความพยายามเต็มที่ในการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน

"ผมไม่มีวันทิ้งพรรคก้าวไกลและ 8 พรรคร่วมฯอยู่แล้ว เรายังอยู่ด้วยกัน และไม่อยากให้มีการพูดว่าผลักพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน การทำเช่นนั้นก็เหมือนผลักประชาชนไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะประชาชนเลือกมา 14 ล้านเสียง" นายวสวรรธน์ กล่าว

เมื่อถามถึงการปรับ MOU ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย โดยยังอยู่ใน 8 พรรคร่วมฯ เดิม นายวสวรรธน์ กล่าวว่า ทั้ง 8 พรรค ต้องมาระดมสมองว่าจะแก้แบบไหนอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีความจำเป็นต้องแก้ เพราะเนื้อหายังเป็นแบบเดิม และลงนามไปแล้ว เอาเวลาในการแก้ MOU ไปทำยุทธศาสตร์ในการหาคะแนนเสียงเพิ่มดีกว่า จะเป็นเสียงจาก สว. ก็ดี หรือ สส. ก็ดี แต่ต้องเป็น สส. ที่มีความเป็นไปได้ เจรจาง่ายที่สุด ไม่ใช่อุดมการณ์ต่างกัน

"เข้าใจได้ว่าพรรคเพื่อไทยเดินเกมเร็ว นอกจากมิ้นต์ช็อกแล้ว ประชาชนก็ช็อกด้วย ผมก็ช็อกเหมือนกัน แต่เข้าใจว่ามีข้อจำกัดทางเวลาที่น้อย อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดพลาดไปนิดนึง ก็ให้กำลังใจทางพรรคเพื่อไทย ทั้ง 8 พรรค ไม่อยากจะเลือกข้างกันเชียร์ เพราะจะเป็นจุดอ่อนและมีการช่วยโอกาสจากฝั่งตรงข้ามเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย" วสวรรธน์ กล่าว

เมื่อถามว่าถ้าพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่างขั้วจริงๆ ทางพรรคเพื่อไทรวมพลังมีเงื่อนไขหรือไม่ นายวสวรรธน์ กล่าวว่า ตามที่พี่ใหญ่ 2 คนบอกว่า "มีลุงไม่มีเรา" ทำให้เป็นการขีดเส้นว่าจะเดินหน้าอย่างไร และกุมชะตาเราอยู่ ก็ต้องมี "เราไม่มีลุง" และพรรคเพื่อไทรวมพลังก็ยึดมั่นในจุดยืนประชาธิปไตยมาตั้งแต่ก่อตั้ง

เมื่อถามว่าการเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งอาจจะตรงกับวันโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป จะมีผลต่อการจัดการรัฐบาลหรือไม่ นายวสวรรธน์ กล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องนายทักษิณเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย ไม่น่าจะมีผลเกี่ยวเนื่องกับการเลือกนายกรัฐมนตรี คนอื่นอาจจะมองว่ามีผล แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นการเดินทางกลับตามที่ท่านเคยประกาศไว้แล้ว แล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตนยินดีที่ท่านได้กลับมาบ้านเกิดของท่าน เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนไทยเราไปอยู่ต่างประเทศยังคิดถึงบ้านเลย


วันนี้ (26ก.ค.66) โดยกิจกรรมธรรมศาสตร์จะไม่ทน จัดขึ้นโดยองค์กรนักศึกษาธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงจุดยืนต่อ 8 พรรคประชาธิปไตย และไม่เอา สว.

โดยในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. พ่อค้าแม่ค้า เริ่มตั้งร้านค้าบริเวณใกล้กับลานสัญญาธรรมศักดิ์ ซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารคณะนิติศาสตร์ แต่ด้วยแสงแดดและอากาศที่ยังคงร้อน ทำให้ผู้ที่เดินทางมาชุมนุม หลบแดดบริเวณใต้ร่มไม้ บริเวณโดยรอบ แต่ทันทีที่ใกล้เงลาเริ่มกิจกรรม ก่อนเวลา 17.00 น. ทางกลุ่มผู้จัดกิจกรรม จึงได้ประกาศให้ผู้ชุมนุม เข้าสู่ลานกิจกรรม เพื่อเริ่มกิจกรรม

กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเดินทางเข้าสู่ลานกิจกรรม พร้อมนำที่นั่ง เสื่อ มาจับจองที่นั่ง เพื่อรับฟังการปราศรัยในครั้งนี้

โดยเนื้อหาใจความการปราศรัย ในเรื่องของผลการเลือกตั้ง ที่พรรคก้าวไกลได้รับเสียงไว้วางใจมากที่สุดในการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่กลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะติดในเรื่องของ สว. ที่ไม่โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล โดยอ้างแต่เรื่องของการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แม้ว่าจะไม่มีการเสนอแม้ซักข้อใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล อีกทั้งการโหวตครั้งที่ 2 ก็มามีปัญหาในเรื่องของการเสนอชื่อซ้ำไม่ได้ และยังโดนศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุติการปฎิบัติหน้าที่ ส.ส. ทำให้หมดสิทธิ์เสนอชื่อ อีกทั้งส่งมอบไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการต่อ ก็เหมือนจะถูกกดกันให้เป็นฝ่ายค้านอีก

การปราศรัยเดือด! โดยกล่าวถึงการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องต่างๆ ทำให้กลุ่มผู้ที่ขึ้นมาปราศรัย ซึ่งก็เรียนนิติศาสตร์ จึงมองว่าแล้วนักศึกษาจะอ่านประมวลกฎหมายไปทำไม ในเมื่อนักกฎหมายหลายคน นำความรู้ที่มีด้านกฎหมาย มาเป็นมาวุธให้เผด็จการ ไม่มีจิตสำนึก

โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้น จะมีการเผาโลงศพ ซึ่งคาดว่าเป็น สว. คล้ายกับการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา

ส่วนการประเมินว่าจะมีการชุมนุมอีกครั้งหรือไม่นั้น รอติดตามข่าวสารหลังจากนี้ ว่าจะมีการนัดหมายสถานที่ไหน วันไหน เวลาอะไร

พรรคร่วมฟาดกันเองจ่อฉีก MOU อีกฝั่งไล่ไปหาเสียงหนุน อมรัตน์จัดหนัก"คนทรยศ"