รอง ผบช.น. เผยแผนรับ "ทักษิณ" ตามขั้นตอนเมื่อเข้าไทย ก่อนส่งตัวให้นครบาล เตรียมพร้อมพื้นที่รัดกุมตั้งแต่จุดเริ่มต้น

ความคืบหน้าหลังจากที่ แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊งค์ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบิดา จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคม โดยจะเดินทางกลับมาทางเครื่องบินและจะลงที่สถานบินดอนเมือง

ด้านพล.ต.ต.โชคชัย งามวงค์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ระบุว่า จนขณะนี้ทางตำรวจยังไม่มีข้อมูล หรือได้รับการประสานเรื่องการเดินทางอย่างเป็นทางการว่าจะเป็นวันไหน อย่างไร สนามบินใด ตนเองได้ทราบ ข่าวจากทางสื่อเช่นกัน

ทั้งนี้ ขั้นตอนการดูแลรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกจะยังใช้วิธีการแบบที่เคยประชุมไว้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือ ถ้าอยู่ในเวลาราชการก็จะรับตัวและส่งศาลฏีกาในทันที แต่หากนอกเวลาราชการ ก็จะทำการส่งตัวไว้ที่สถานคุมตัวพิเศษ ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถนนวิภาวดีก่อน และจะย้ายตัวไปศาลฏีกาในเวลาราชการ จากนั้นสถานที่สุดท้ายคือนำตัวไปส่งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตามจากการประชุมที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้เตรียมพร้อมพื้นที่ เส้นทางการเดินทางทั้งหลักและรอง เป้าหมายการเดินทางตั้งแต่เริ่มต้นควบคุมตัวที่สนามบินดอนเมือง หรือสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสถานที่ต่างๆอย่างรัดกุม

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฎ ว่า ได้มีสำเนาเอกสารหลุด เกี่ยวกับการประชุมเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ จากที่ประชุมกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีการพิจารณากำหนดเส้นทางการเดินทาง กองบังคับการตำรวจจราจร รวม 6 เส้นทาง

1. เส้นทาง (หลักและรอง) จากสนามบินสุวรรณภูมิ มายังศาลฎีกา(สนามหลวง)

2. เส้นทาง(หลักและรอง)จากสนามบินดอนเมืองมายังศาลฎีกา(สนามหลวง)

3. เส้นทาง(หลักและรอง) จากสนามบินสุวรรณภูมิ มายัง บช.ปส.(กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด )เป็นสถานที่ควบคุมพิเศษ

4. เส้นทาง(หลักและรอง) จากสนามบินดอนเมืองมายัง บช.ปส.

5. เส้นทาง(หลักและรอง) จากบช.ปส.มายังศาลฎีกา (สนามหลวง)

6. เส้นทาง(หลัก และ รอง) จากศาลฎีกา(สนามหลวง) มายัง เรือนจำพิเศษ กทม.

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาแนวทางวางกำลังรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจรพื้นที่เกี่ยวข้อง ตามเส้นทางการเดินทาง และแต่ละสถานที่ ทั้ง สนามบินสุวรรณภูมิ/สนามบินดอนเมือง/บช.ปส. และศาลฎีกา ซึ่งการจัดรูปแบบขบวนรถในการรักษาความปลอดภัย ให้ บก.จร.และบก.สปพ (กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 ) พิจารณาแนวทางจัดรูปแบบขบวน