เกาะกระแสการเมือง โดยเฉพาะการจับตา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่2 วันที่ 19 ก.ค.66

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นัดหารือวิปวุฒิสภาและพรรคการเมือง 18 พรรคเพื่อวางแนวทางการโหวตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ หลังยังมีข้อถกเถียงว่า สามารถที่จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อีกหรือไม่ เนื่องจากมีข้อบังคับ ข้อที่ 41 กำหนดว่า ญัตติที่ตกไปแล้วไม่สามารถเสนอซ้ำได้ เว้นแต่ประธานสภาฯอนุญาตหากเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงวันนี้จะการกำหนดกรอบระยะเวลาการอภิปรายของแต่ละฝ่ายก่อนการลงมติ และหารือถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่เกี่ยวข้อง

หลังใช้เวลาหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การเลือกนายกรัฐมนตรี วันพรุ่งนี้ จะเริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. เพื่อให้กระบวนการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยเร็ว เพราะประเทศชาติรอนายกฯคนใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆในบ้านเมืองอยู่ แต่ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายยังไม่ได้ข้อยุติ ว่าจะเสนอชื่อพิธา ซ้ำ 2 ได้หรือไม่ เพราะต่างฝ่ายต่างแสดงจุดยืนและอ้างข้อบังคับของตัวเอง จึงต้องฟังเสียงสมาชิกรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ก่อน อย่างไรก็ตามผู้ที่เข้าร่วมการประชุมวิปวันนี้ (18 ก.ค.) จะต้องไปทำความเข้าใจกับสมาชิกของตนเอง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการประชุม

ส่วนวันพรุ่งนี้ จะต้องลงมติเรื่อง กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี รอบ2 จะสามารถเสนอรายชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าเป็นญัตติ หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประธาน จะชี้ขาดได้ ก็ต่อเมื่อได้ฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะวินิจฉัยหรือจะให้สมาชิกลงมติก็ต้องดูสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ว่า จะใช้ข้อบังคับข้อที่ 41หรือไม่ หรือจะใช้ข้อบังคับหมวด 9 ดังนั้น ก็คงต้องฟังการอธิปรายก่อน และเข้าใจว่า คงไม่ใช้เวลายืดเยื้อในการอภิปราย ซึ่งวางกรอบเวลาเอาไว้คร่าวๆไม่เกิน 2 ชั่วโมง

เมื่อถามว่าถึง การงดเว้นข้อบังคับจะเป็นหนึ่งในแนวทาง สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้(19 ก.ค.) หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะงดเว้นข้อบังคับได้ก็ต้องมีการเสนอเข้ามา ในที่ประชุมก่อน และที่ประชุมต้องมีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง จึงจะงดเว้นได้ แต่ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายวันนี้ (18 ก.ค.) ไม่มีใครพูดถึง เรื่องนี้เพราะถ้ามีการยกเว้นข้อบังคับก็ไม่รู้จะไปใช้ข้อบังคับตรงไหน เพราะการเดินหน้าเลือกนายกรัฐมนตรีมีไม่กี่ประเด็นเท่านั้น และประเด็นสำคัญ คือต้องมีการเลือกนายกให้ได้ จึงคิดว่าคงไม่มีใครเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ

เมื่อถามว่า หาก สมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นญัตติ จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯคนอื่นต่อได้เลยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า "ข้อบังคับไม่ได้ห้ามเอาไว้"

ส่วนการบรรจุวาระ การแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 272 จะดำเนินการหลังเลือกนายกรัฐมนตรีลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเลยหรือไม่ นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องของเจ้าหน้าที่สภา ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระ คงต้องรอให้วาระการเลือกนายกฯเสร็จสิ้นก่อน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประชุมวันที่ 19 ก.ค.นี้ พอเปิดประชุมแล้ว ตามมติ 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์​ หัวหน้า​พรรค​ก้าวไกล​ ให้โหวตนายกฯอีกรอบ โดยพรรคเพื่อไทย จะเป็นผู้เสนอชื่อ แต่ถ้ามีคนเห็นต่างอยากให้ญัตติดังกล่าวตกไป ก็จะต้องมาอภิปรายถกเถียงกัน สุดท้ายคงต้องใช้วิธีการลงคะแนนตัดสิน ถ้าญัตติดังกล่าวตกก็ถือว่าจบไป ต้องไปนัดประชุมรอบใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีที่ถ้าต้องมีการเสนอชื่อนายพิธา โหวตเป็นนายกฯรอบสาม จะต้องได้คะแนนในรอบสองเท่าไหร่ ถึงจะเสนอชื่อในรอบต่อไปได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กรณีนี้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เคยมีการคุยกัน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ยกตัวอย่างถึงการโหวตรอบสามว่า จะต้องมีแนวโน้มของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังไม่ไดข้อสรุป ซึ่งนายพิธาไปบอกว่าควรมีคะแนนเพิ่มขี้น 10 เปอร์เซนต์ หรือ 344-345 คะแนน แต่ถ้าดูคำว่า 10 เปอร์เซนต์ แล้วหมายความว่าจะต้องได้เพิ่มอีก 32 คะแนน เมื่อไปร่วมกับ 324 เสียงเดิมจากรอบแรก ก็จะต้องได้คะแนนถึง 356-360 ถึงจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่นายพิธาพูดเอาไว้

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคารพพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง ตราบใดที่พรรคก้าวไกลยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการในการให้พรรคอันดับสองขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไทยจะมาทึกทักว่าเป็นโอกาสของตัวเองไม่ได้ โดยความชอบธรรมจะต้องรอให้มีแถลงการณ์จากพรรคอันดับหนึ่ง มอบให้พรรคอันดับสองเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจึงจะบอกได้ว่าเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยต้องการเวลาในการหาเสียงสนับสนุนนานเท่าไหร่ ในการตั้งรัฐบาลหากชื่อของนายพิธา ยังไม่ผ่านการโหวตในรอบสอง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อม แต่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการภายในพรรคฯก่อน ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเนื้อหาสาระของ เอ็มโอยู ทั้ง 8 พรรคหลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่การยกเลิก เช่น ชื่อของนายพิธา จะต้องเปลี่ยนไปเป็นใคร การเติมเสียงพรรคที่ 9 พรรคที่ 10 การกาเสียง ส.ว.มาสนับสนุนเพิ่มเติม ถ้าประธานรัฐสภา จะบรรจุญัตติเลือกนายกฯในสัปดาห์หน้าเราก็มีความพร้อม



ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ว.ยังยืนหลักการว่าถ้ายังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลก็จะไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นแค่สถานการณ์สมมุติ การจะได้ 375 เสียง จะต้องดูว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นอย่างไร และพรรคเพื่อไทยมีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง รวมถึงการฟังเสียงของส.ว. องค์ประกอบเหล่านี้จะต้องนำมาประกอบกัน ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคาดการณ์อะไรถึงขั้นนั้น

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังกล่างวถึงกรณีที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบคัวเพื่อไทย ระบุว่าจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกฯในการเสนอชื่อโหวต หากนายพิธาไปต่อไม่ได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นความเห็นของน.ส.แพทองธาร จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพรรคฯก่อน ส่วนชื่อของนายเศรษฐา จะสามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค.ได้ทันทีหรือไม่ หากชื่อของนายพิธาไม่ผ่าน นั้น ในทางปฏิบัติไม่ควรยื่นญัตติซ้อนไป เพราะชื่อของนายเศรษฐา ไม่เคยเอาเข้าสู่ที่ประชุมของ 8 พรรคร่วมฯ เพื่อหารือกันมาก่อน อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูเหตุการณ์ในวันที่ 19 ก.ค.อีกครั้ง

"ซึ่งจะมีการประชุมในบ่ายวันนี้ ซึ่งเป็นการเตรียมการณ์ภายใน แต่อย่างไรก็ต้องรอผลโหวตนายกรัฐมนตรีวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งตัวเองจะไม่พูดข้ามขั้นตอนวันที่ 19 กรกฎาคม ไปเพราะต้องรักษามารยาท เพราะเดี๋ยวจะถูกหาว่า เพือไทยกระดี๊กระด๊า อย่างไรก็ตามความชอบธรรมนั้นจะต้องรอให้ การแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน พรรคเพื่อไทยถึงจะมีความชอบธรรมในการดำเนินการทุกอย่างได้" นพ.ชลน่าน


เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรม pita.IG ระบุว่า ลุย! อย่าทำให้การเลือกตั้งของพวกเราไม่มีความหมาย มติ 8 พรรคร่วม เสนอ ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย วันที่ 19 นี้!


นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
กล่าวถึงกระแสโซเชียลที่แซวว่า ร้องไห้ ในการประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่แล้ว ว่า ตอนนั้นเป็นภาพกำลังแลบลิ้น ตอนที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เดินเข้ามาให้กำลังใจ ไม่ได้พูดว่า หมดสิทธิ์นายกรัฐมนตรี จากนั้นหยิบน้ำตาเทียมออกมาโชว์ พร้อมพูดว่า "ใครไม่เคยลอง ลองรุ่นนี้ เป็นยาหยอดตานะ เพราะใส่คอนแทคเลนส์ ซื้อมาจากญี่ปุ่น คุณเข้าใจแล้วหรือไม่ว่าไม่ใช่ร้องไห้"

ก่อนการประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม ส.ส.ของพรรค ภายหลังวิป 3 ฝ่ายยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเสนอชื่อนายพิธา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ว่า ตนยังไม่ได้อัพเดรตหลังจากเดินวายให่สัมภาษณ์สื่อมวลชนตลอดช่วงเช้า ทำให้จะมาฟังผลการประชุมพรรคในช่วงบ่าย ทั้งเรื่องข้อบังคับการประชุม รวมถึงเรื่องต่างๆ โดยจะใช้เวลานี้คุยกับ ส.ส.ภายในพรรคทำให้ยังไม่ทราบรายละเอียด

ส่วนกังวลหรือไม่เพราะขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะเสนอชื่อนายพิธาได้นั้น นายพิธา ย้ำว่าตนยังไม่ทราบรายละเอียดทำให้ไม่รู้ว่าควรจะต้องกังวลหรือไม่ตัองกังวล แต่เมื่อวานที่ประชุม8พรรคร่วมได้อธิบายในแง่กฏหมายของทุกพรรค ฝ่ายกฎหมายหลายพรรคได้มาคุยกันว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ การอ้างระเบียบข้อบังคับนั้นไม่เกี่ยว หรือหากเป็นญัตติก็ต้องพูดให้ชัด แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ และก็มีหลายมุม ซึ่งต้องขอรอฟังที่ประชุม ส.ส.ให้อัพเดรตให้ตนฟังก่อน

เมื่อถามว่าหากมีการโหวตได้เสียงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญเป็นตัวเลขเท่าไรนั้น นายพิธา ระบุว่า เป็นไปตามที่สื่อสารคือเพิ่มขึ้น กว่า10% ประมาณ 340-350กว่าๆเสียง ก็จะเห็นว่าเป็นทิศทางที่ดี ที่เข้าใกล้เป้าหมาย รวมถึงเรื่อง ม.272 ที่ดำเนินการโดยพรรคก้าวไกลเองก็ได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าไม่ได้ตัดสินใจด้วยอารมณ์ หรือถ่วงเวลาใดๆทั้งสิ้น แต่ตัดสินใจด้วยสถิติในการโหวต ปิดสวิตซ์ ส.ว.เมื่อเดือน พ.ย.ปี 63 เดือน พ.ค.ปี 64 และเดือน ก.ย.ปี 65

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยพูดถึงความพร้อมในการจัดตั้งรัฐบาลแต่ตัองมีการเปิดทางจากพรรคก้าวไกลก่อนนั้น นายพิธา พยักหน้ารับ แล้วกล่าวว่า “ครับเมื่อถึงเวลาก็เป็นแบบนั้น”

ส่วนจะต้องเตรียมแผนสำรองและเสนอชื่อคนที่จะมาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีแทนหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า ยังไม่เห็นสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องทำแบบนั้น ตนอยากฟังสถานการณ์ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นกฎหมาย หรือที่ประชุมวิป3ฝ่าย

ส่วนการเสนอปรับ MOUใหม่จะมีแผนหรือกรอบอย่างไรหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า MOUยังเหมือนเดิมอยู่ และยังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคไหนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง วันนี้ตนยังไม่มีโอกาสได้ฟังข้อเท็จจริง มีเพียงฟังผู้สื่อข่าว ซึ่งจะต้องขอไปคุยกับพรรคร่วมทั้ง8พรรคก่อนหากมีการปรับเปลี่ยน พร้อมยืนยันว่า หากได้รับผลลัพธ์ ก็สามารถปรับยุทธศาสตร์ไปได้เรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

กรณีที่ ส.ว.ระบุว่าหากพรรคก้าวไกลไม่แก้ม.112 ก็จะโหวตให้นั้น นายพิธา กล่าวว่า จากการอภิปรายเมื่อวันที่ 13 ก.ค.เป็นโอกาสที่ทำให้เห็นภาพได้มากขึ้น ตนเห็นว่าบางคนคิดว่าเป็นเรืาองความยืดหยุ่นมากกว่า ว่าใครจะเป็นคนฟ้องผู้กระทำผิด เพื่อที่จะให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ เป้าหมายที่ไม่ให้ใครเอากฎหมายมาตรานี้มารังแกกัน ไม่ใข่ใครก็ได้ที่จะเป็นคนฟ้อง บางคนบอกว่าต้องเป็นนายก บางคนก็บอกว่าต้องเป็นคณะกรรมการ ซึางที่จริงแล้วการอภิปรายเมื่อวันที่13 ทำให้เราเข้ามกล้กันมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องแก้หรือไม่แก้ตนรู้สึกว่ามีความคืบหน้าเหมือนกันในเรื่องแบบนี้จากที่ไม่เคยคุยกันก่อน

“แสดงว่ายังมีรายละเอียดที่ยืดหยุ่นและพูดคุยกันได้ ไม่ใช่แค่เป็นเส้นกั้นเท่านั้น แต่มันกลายเป็นความเป็นไปได้ที่มีการพูดคุยกันมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ว่ากันในสภา แต่พูดถึงกันในสังคมไทยจริงๆ”

ส่วนที่กลุ่ม ส.ว.พยายามคว่ำการโหวตก่อนที่จะมีการอภิปรายนั้น นายพิธา กล่าวว่า หากทำเพื่อสกัดกั้นตนคนเดียวแล้วให้กลายเป็นเรื่องของระบบทั้งหมด

"อีกหน่อยถ้ามันมัดผม มัดพรรคผม มันก็จะมัดพรรคที่สอง พรรคที่สาม พรรคที่สี่ และผมเข้าใจว่าถ้าเป็นในเชิงรัฐศาสตร์ การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กับญัตติ ต่อไปนี้ถ้ามีคนที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องมีการเสนอชื่อ ก็จะกลายเป็นญัตติหมด ไม่ว่าจะเป็นศาลหรือสภาแล้วโดนแบบนี้มันจะกลายเป็นการผูกที่แก้ยากมากๆและจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตของคนที่เข้ามาดำรงตำแหนางทางการเมือง…มันเรื่องใหญ่ วันนี้ต้องดึงสติกันให้ชัด มันคือความแตกต่างระหว่างเสนอชื่อกับญัตติ และถ้าอันไหนที่เป็นมาตราที่ต้องเป็นญัตติในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด ว่าอย่างงี้ต้องเข้าชื่อแล้วยื่นญัตติ กับอีกอันที่อยู่กันละหมวดแล้วไม่มีการพูดถึง ผมคิดว่าถ้าไปตีความสกัดไม่ให้เป็นผม ผมว่าแบบนี้น่ากลัว" นายพิธา กล่าว 

เมื่อถามว่า เป็นเพราะความพยายามสลับขั้วการตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่สามารถฟันธงได้ แต่หากสกัดกั้นตนก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะทำ

เมื่อถามว่ายืนยันหรือไม่ว่าหากเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกลจะอยู่ในสมการเดียวกัน นายพิธากล่าวว่า นั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ เพราะเป็นรัฐบาลที่ร่วมกันจัดตั้ง 8 พรรคมี MOU กันมาอย่างชัดเจน และทำงานมาถึงขั้นนี้แล้ว ตนก็คิดว่าหากตนในฐานะพรรคอันดับ 1 ไปต่อไม่ได้ ก็ส่งไม้ให้พรรคอันดับ 2 ก็คิดว่าคงจะอยู่ในเรือลำเดียวกัน ร่วมกันมาและตั้งรัฐบาลแห่งความหวังของประชาชน

ส่วนจะมีเงื่อนไขอะไรที่จะดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลหากมีการปรับ MOU นั้นนายพิธา ระบุว่า ยังไม่มีและให้ยึดตามแถลงเมื่อวานนี้

นายพิธา ยังกล่าวถึงกรณีที่แกนนำพรรคภูมิใจไทย บอกให้ลดเพดานแล้วพร้อมจะโหวตให้นั้นว่า ตนไม่แน่ใจว่าข้อเสนอนี้ยังอยู่หรือจบไปแล้ว เพราะเห็นจากสื่อว่าจบไปแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนำมาวิเคราะห์กัน

 

*ประวิตร
หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วเสร็จ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินลงจากตึกบัญชาการหนึ่ง ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม อารมณ์ดี

ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่วันพรุ่งนี้จะมีการเสนอชื่อพลเอกประวิตร แข่งกับนายพิธา ซึ่งพลเอกประวิตรไม่ตอบได้แต่ยิ้ม

ผู้สื่อข่าวจึงถามอีกว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกอะไรเลยหรือที่จะมีการเสนอชื่อ โดยพลเอกประวิตรก็ไม่ตอบเพียงแต่ยิ้มและรีบเข้าไปนั่งในรถยนต์ส่วนตัวทันทีพร้อมกับรอยยิ้มเหมือนเดิม ก่อนที่ตะเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลเตรียมเข้าร่วมประชุม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในช่วงเย็นวันนี้

*ธรรมนัส
โดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เปิดเผยว่า ให้รอดูหน้างานในวันพรุ่งนี้ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในช่วงเช้าจะมีการเรียกประชุมกับ ส.ส.ก่อนที่จะเข้าไปโหวต

ผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการเรียกประชุมก่อนที่จะมีการโหวตนายกเพียงหนึ่งวันแบบนี้เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลสลับขั้วหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส เปิดเผยว่า เป็นเพียงการประชุมเพื่อวางอนาคตของพรรคเท่านั้นและให้รอดูหน้างานในวันพรุ่งนี้ ส่วนการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ทางพรรคพลังประชารัฐมีความคิดเห็นอย่างไร ร้อยเอกธรรมนัส บอกว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคมีคุณสมบัติและมีข้อดีแตกต่างกัน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ยืนยัน ว่านโยบายของพรรคคือก้าวข้ามความขัดแย้ง และไม่มีนโยบายจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างเด็ดขาด

*ชัยวุฒิ
หลังจากที่ ร้อยเอก ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์เสร็จนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ได้เดินทางลงมาจากที่ประชุมพร้อมกับเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากมติในที่ประชุมของพรรคซึ่งจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 พรรคพลังประชารัฐจะขาล "ไม่เห็นชอบ" โหวตให้กับนายพิธาไม่ต่างจากครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยก่อนที่จะมีการโหวตทางพรรคพลังประชารัฐจะมีการ ส่งส.ส.ขึ้นพูดอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นนี้ ว่าการเสนอชื่อนายพิธาเป็นครั้งที่สองผิดข้อบังคับของที่ประชุมรัฐสภา ส่วนประเด็นที่พรรคเพื่อไทยติดต่อมาเพื่อจะให้จัดตั้งรัฐบาลสลับขั้ว ยังไม่มีการติดต่อจากพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามตอบว่าพลเอกประวิตรได้ฝากอะไรในที่ประชุมกับสมาชิกพรรคถึงแนวทางในอนาคตหรือไม่ ทางด้านนายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า พลเอกประวิตรได้มีการเน้นย้ำในที่ประชุมโดยให้ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน รับผิดชอบต่อหน้าที่ ถ้าพรุ่งนี้เสนอชื่อนายพิธาและไม่สามารถโหดผ่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกน่าจะมีการปิดประชุมสภาไปก่อน หรือว่าจะมีหรือจะมีการเสนอชื่อคนอื่นให้รอดูท่าทีพรุ่งนี้ อาจจะมีปัจจัยที่ทำให้คะแนนเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ส.ว.ที่จะโหวตหรือไม่โหวตให้ เปิดทางให้ 8 พรรคร่วมทำให้เต็มที่ไปก่อน ไม่ได้ค่อยมาว่ากัน

 

สัญญาณแปลกส่อปิดทางโหวตพิธารอบ 2 เจ้าตัวโต้ภาพร้องไห้