เช็กเสียง ส.ว.โหวตนายกฯ กลุ่มเคยประกาศโหวต "พิธา" เสียงแตก หลายคนเปลี่ยนใจ เหตุกังวลแก้ ม.112

ภายหลังนายวันมูหะมัดนอร์​ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำหนดวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)​ ถือว่ามีส่วนสำคัญ

ล่าสุด ทีมข่าวช่อง8 โทรศัพท์สอบถาม ส.ว.เพื่อเช็กเสียงโหวตอีกรอบ ปรากฏว่า มี ส.ว.หลายคน มีข้อกังวลในเรื่องการแก้ไขมาตรา112 และหากพรรคก้าวไกล ยังไม่แสดงจุดยืน ว่าจะไม่แตะต้องมาตรานี้ เรื่องนี้คงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นายพิธา ไม่ถึงเก้าอี้นายก แต่ก็มีส่วนหนึ่งยังแทงกั๊กขอตัดสินใจในวันโหวต

ขณะที่ ส.ว. กลุ่มเดิมที่ก่อนหน้านี้แสดงเจตนารมณ์จะโหวตให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ยังคงยืนยันจุดยืนเดิม อาทิ นายมณเฑียร บุญตัน , นายวันชัย สอนศิริ ,นายอำพล จินดาวัฒนะ แต่ก็มี 1-2 คนที่ ขอเปลี่ยนใจ ไม่โหวตให้แล้ว

อย่างนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ที่ยอมรับตรงๆว่าได้เปลี่ยนใจไม่โหวตให้นายพิธา เพราะเมื่อดูรายละเอียดในร่างแก้ไขมาตรา 112 ตนรู้สึกว่า ไม่สบายใจ แต่หากนายพิธา ยอมยกเลิกการแก้ไขมาตรานี้ ตนก็พร้อมที่จะโหวตให้ และส.ว.หลายคนก็เป็นเช่นนี้ และตั้งแต่เปิดประชุม ส.ว. มา ก็มีการพูดคุยเรื่องนี้มาโดยตลอด ดูเสียงตอนนี้ มีเหลือแค่ประมาณ 10 คน ที่จะสนับสนุนนายพิธา

ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกลติดต่อกับส.ว.หลายครั้ง และหลายคน เพื่อพูดคุย แต่ส่วนใหญ่ตอบกลับไปว่าขอพิจารณาหน้างาน แต่ตนเชื่อว่าพรรคก้าวไกลรู้ตัวแล้วว่าจะได้เสียงไม่ถึง

ส่วนนายทรงเดช เสมอคำ ยังคงยืนยันว่า โหวตให้นายพิธา แต่เชื่อว่านายพิธา จะได้เสียง ส.ว. ไม่เพียงพอ หากไม่ประกาศว่าจะไม่แตะต้องมาตรา 112

ขณะที่ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ส.ว.กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ รอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาต้องชั่งน้ำหนักถึงหลักการและเรื่องนโยบาย โดยในหลักการนายพิธา ก็มาตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ดูเรื่องนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติหรือเปล่า เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การขึ้นค่าแรงต่อการลงทุนของต่างประเทศ การอยู่รอดของอุตสาหกรรมไทย เรื่องนโยบายต่างประเทศที่อาจจะสร้างปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน และกับประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น และอีกหลายประเด็นที่เป็นห่วง ดังนั้นตนจึงยังไม่ตัดสินใจ เพราะเห็นว่าพรรคก้าวไกลก็ปรับนโยบายไปเรื่อยๆ และดูว่าวันสุดท้ายจะมีการชูนโยบายของตนเองให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติมากน้อยแค่ไหน

ขณะที่พลอากาศตรีเฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึง การตัดสินใจโหวตนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล แต่ตนพิจารณาจากแนวคิด ยึดความมั่นคงของประเทศชาติ ศาสนาและประชาชนเป็นสำคัญ เพราะไม่อยากนอนผวาว่าวันดีคืนดี จะมีใครมาทำลายเรื่องของความมั่นคงของชาติ และส่วนตัวไม่ได้มองว่าใครจะสืบทอดอำนาจของใคร แต่จะขอยึดความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก ส่วนจะบทเลือกนายพิทาหรือไม่คำตอบอยู่ในคำชี้แจงข้างต้นแล้ว

สำหรับพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ได้ให้ความเห็นว่า วุฒิสมาชิกมีวุฒิภาวะมากพอที่จะตัดสินใจลงหรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เลือกเพราะความคุ้นเคยศรัทธา หรือผลประโยชน์อื่นใด พิจารณาเลือกเพื่อให้บริหารประเทศที่เขารัก เพื่อประชาชน เพื่อลูกหลานในอนาคต