"แสวง" รับขั้นตอนสอบหุ้นสื่อ "พิธา" ซับซ้อน ชี้เป็นอำนาจคณะกรรมการไต่สวนจะเชิญเข้าแจงหรือไม่ และไม่ขีดเส้นจบก่อนโหวตนายกฯ เตรียมสอบเพิ่มปมนโยบาย "ก้าวไกล" ยกเลิก ม.112 เข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคหรือไม่

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิตเดนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล หลังมีรายงานจากคณะกรรมการสืบสวนว่า จะเชิญนายพิธา มาชี้แจงว่า สำนักงาน กกต. ยังไม่ทราบ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวน จะทราบก็ต่อเมื่อมีการส่งรายงานหลังการสอบสวนเสร็จสิ้น แต่ตามหลักการคณะกรรมการต้องมีการสอบสวนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเป็นคดีอาญา ที่ต้องใช้หลักฐานยื่นต่อศาล และเท่าที่ทราบตอนนี้ ทางคณะกรรมการสอบสวนยังไม่ได้ยื่นขอขยายเวลาการพิจารณาเรื่องนี้มาหลังจากครบกำหนดในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ แต่เท่าที่รายงานมาล่าสุดในสำนวนก็ครบเกือบ 100% แล้ว

เมื่อถามว่า กกต.ได้มีการพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 บ้างแล้วหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ก่อนที่ กกต.จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ สิ่งสำคัญ กกต.ต้องเห็น
ว่ามีข้อเพียงพอเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย​หรือไม่ ซึ่งอาจใช้ข้อมูลจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนก็ได้ หรืออาจตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ได้ แต่ให้แยกว่าเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ใช่การแจ้งข้อกล่าวหา เบื้องต้นขณะนี้มีผู้มายื่นร้องให้กกต.ดำเนินการตามมาตรา 82 แล้ว ดังนั้น ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.ว่าจะใช้วิธีการดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งจะแตกต่างจากระเบียบสืบสวนไต่สวน

เมื่อถามว่า จะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวก่อนการโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เมื่อ กกต.เห็นข้อมูลจะต้องมีการประชุมอย่างแน่นอน แต่ท่านจะต้องดูว่ามีข้อมูลพยานหลักฐานแค่ไหน เพียงพอที่จะส่งให้ศาลวินิจฉัยได้หรือไม่ ต้องมีพยานหลักฐานและต้องเห็นด้วย ส่วนจะต้องยื่นให้ศาลพิจารณาก่อนการโหวตนายกฯ นั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ กกต.ที่จะต้องมาพิจารณา 

เมื่อถามย้ำอีกว่า กระบวนการทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า สำนักงาน กกต.ทำงานตามเวลาที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นกรณีการตรวจสอบตามมาตรา 151 ซึ่งต้องหาพยานหลักฐานให้ครบถ้วนรวมทั้งดูเจตนาด้วย เพราะเป็นคดีอาญา ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กกต.ประกาศรับรองผลได้เพียง 1 สัปดาห์ และเมื่อมีผู้มายื่นร้องกกต.ก็คงจะพิจารณา 

เมื่อถามว่า นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เข้าหารือเข้ามอบหลักฐานกับ กกต.กรณีนายพิธา เมื่อ 28 ก.ค. ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายแสวง กล่าวว่า ท่านไม่ได้มาตามเรื่องพิธา แต่ท่านได้มาพูดเรื่องการเมืองการเลือกตั้ง เกิดปัญหาต้องการการสนับสนุนอย่างไรบ้าง และได้นำหลักฐานประกอบคดีหุ้นนายพิธามามอบให้ ซึ่งจากนี้ สำนักงาน กกต. ก็จะนำหลักฐานไปประกอบการพิจารณาคดีทั้งกรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กรณีสงสัยคุณสมบัติของ ส.ส.จะต้องมีการเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีมาตรา 82 นั้นมีคนร้องเข้ามาแล้ว แต่ขณะนี้ ทางสำนักงานยังไม่ได้สรุปเรื่องส่งคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม นายแสวงได้เลี่ยงการตอบคำถามว่า เหตุใดกรณีนี้ถึงใช้เวลานาน 

เมื่อถามว่า กรณีของนายพิธา กกต.สามารถดำเนินการกรณี “ความปรากฏต่อ กกต.” ได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ไม่ต้องมีความปรากฏเลย โช๊ะเลย แต่ต้องมีหลักฐาน กกต.ไม่ใช่ผู้ตัดสิน ก่อนเลือกตั้งจะต้องส่งให้ศาลฎีกา ถ้าไม่ได้รับการเลือกตั้งก็อยู่ในชั้นศาลยุติธรรม ส่วนได้รับเลือกตั้งแล้วก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เหมือน กกต.เป็นคนฟ้องว่าข้อมูลหลักฐานเพียงพอให้ฟ้องหรือไม่ ก็เหมือนกับกรณีส่งศาลฎีกาพิจารณากรณี 37 ผู้สมัคร ส.ส. ไม่ต้องเชิญใครมาชี้แจง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อเห็นว่าพอฟ้อง มีหลักฐานก็ฟ้อง แต่ตอนนี้ กกต.ยังไม่เห็น แต่กรณี 37 ผู้สมัคร ส.ส.นั้น กกต.เห็นแล้วก็ส่งศาลฎีกา โดยไม่ได้เชิญใครมาชี้แจง แต่กรณีการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 เป็นระเบียบสืบสวนหากมีการกล่าวหาก็ต้องเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง 

นายแสวง ยังกล่าวถึงกรณี ก่อนหน้านี้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นไม่รับคำร้องยุบพรรคก้าวไกล จากเหตุมีนโยบายหาเสียงแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับสั่งอัยการสูงสุดชี้แจงว่า รับหรือไม่รับคำร้องของผู้ที่ยื่นร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าในชั้นของกฎหมายพรรค กกต.จะพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีอำนาจให้พรรคกระทำหรือไม่ และกระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งเขียนต่างจากรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า หากเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จะต้องร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49