"ทนายความอิสระ" ร้องศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง "พิธา-ก้าวไกล" หยุดแก้ไข ม.112 เหตุมุ่งหวังประโยชน์ทางการเมืองและเจตนาไม่บริสุทธ์ หวั่นนำไปสู่ประชาธิปไตยแบบอื่น

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ เข้ายื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ให้เลิกทำนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และขอให้เลิกการให้สัมภาษณ์ ป้ายโฆษณาใดๆ

 

โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 49  หากมีการพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ใช้สิทธิ์ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด  และได้ยื่นคำร้องได้ 30 พฤษภาคม 2566 เมื่อครบ 15 วันแล้วอัยการยังไม่ได้สั่งการใด เป็นสิทธิที่จะยื่นร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

 

นอกจากนี้ยังยกกรณี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีที่กลุ่มบุคคลและองค์กรเครือข่ายได้เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางกระทบกระเทือนถึงสถาบันหลักของชาติ ซึ่งในขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลิกการกระทำอันกระทบกระเทือนสถาบัน เพื่อเป็นการหยุดยั้งไม่ให้ลุกลามจนเกิดอันตรายแก่สถาบัน

 

วันนี้จึงเดินทางมายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล เลิกการดำเนินการใดๆหรือการกระทำใดๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 รวมไปถึงให้เลิกแสดงความเห็น เลิกพูด เลิกเขียน เลิกพิมพ์ เลิกโฆษณษา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ที่กระทำอยู่ในขณะนี้ และจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันจึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม

 

ทั้งนี้นายธีรยุทธมองว่าเป็นการกระทำที่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง จึงอาจเข้าข่ายมีเจตนาไม่สุจริต มีกระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นำไปสู่การทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

 

"มีหลายประเด็นที่เห็นว่าเค้าข่าย ต้องโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 19/2564 ที่ศาลวินิจฉัยไว้เบื้องต้นว่า การยกเลิกหรือการแก้ไขกฎหมายใดที่มีไว้เพื่อห้ามไม่ให้ผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทำนั้นได้มีคำสั่งห้ามไปแล้วในคำวินิจฉัยดังกล่าว" นายธีรยุทธกล่าว

 

นายธีรยุทธยังระบุว่า คำร้องนี้แตกต่างจากคำร้อง ที่สำนักงาน กกต.ตีตก ซึ่งคำร้องนั้นอ้างอิงถึงกฎหมาย พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขณะที่คำร้องวันนี้ อ้างถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เห็นเจตนารมย์ของศาลรัฐธรรมนูญว่า "เป็นการดับไฟตั้งแต่ต้นลม มิให้ความร้ายแรงนั้น จะพึงเกิดขึ้นในภายภาคหน้า" ส่วนพยานหลักฐานต่างๆที่ได้มาเรียนต่อศาล ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล ที่จะชี้แนะต่อไป  ทั้งนี้ผู้ร้องทำคำร้อง 18 หน้า และเอกสารพยานหลักฐานทั้งหมด 98 แผ่น