"ป.ป.ช." โต้ "ชูวิทย์" ปมวิจารณ์ กก.ป.ป.ช.ขาดคุณสมบัติ แจงมีกระบวนการสรรหากรรมการอย่างเข้มข้น ยันไม่มีช่วยเคลียร์คดีนักการเมือง

วันที่ 15 มีนาคม 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับกรรมการ ป.ป.ช. คนหนึ่ง ในประเด็นขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และการดูแลรับผิดชอบคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อช่วยเคลียร์คดี ดังนี้

1. การสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการสรรหา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีกระบวนการในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. อย่างเข้มข้น จากนั้นผู้ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการผ่านกระบวนการขั้นตอนการรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. อย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

2. การดูแลรับผิดชอบคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อช่วยเหลือคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ขอแจ้งข้อเท็จจริงให้ทราบว่า ในการแบ่งหน้าที่และอำนาจให้กรรมการ ป.ป.ช. แต่ละท่านกำกับดูแลสำนักต่างๆ ในสำนักงาน ป.ป.ช. นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะใช้วิธีการสุ่มเลือกเพื่อมอบหมาย โดยประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละท่านมิได้เป็นผู้เลือกเอง และจะมีการสลับหมุนเวียนกันทำหน้าที่เมื่อครบระยะเวลาหนึ่ง (1-2 ปี) ซึ่งท่านดังกล่าวได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้กำกับดูแลสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นับเป็นเวลาเพียง 1 ปีเศษ

อีกทั้งในการพิจารณาสำนวนหรือคดีต่างๆ นั้น การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติเพื่อมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ส่วนการพิจารณาสำนวนในชั้นตรวจสอบ โดยเฉพาะเรื่องกล่าวหาร้องเรียนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะในการพิจารณา มิใช่อำนาจของกรรมการ ป.ป.ช. ที่กำกับดูแลเพียงท่านเดียวที่จะรับเรื่องหรือไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้ดำเนินการ สำหรับกรณีการมีมติให้ไต่สวนบุคคลใด ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะที่จะพิจารณา มิใช่อำนาจของกรรมการ ป.ป.ช. ที่กำกับดูแลเช่นกัน