"บิ๊กป้อม" ฟิต ลุย 3 จังหวัดใต้ สุราษฎร์ ชุมพร ระนอง แก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำและความก้าวหน้าโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่สำคัญในพื้นที่ภาคใต้ ณ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

โดยช่วงเช้าลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางรัก ระยะที่ 1 และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมพรุเฉวง ณ ศาลาอเนกประสงค์พรุเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จากนั้นในช่วงบ่ายลงพื้นที่ติดตามโครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อความยั่งยืน บ้านวังช้าง หมู่ 4 ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร หลังจากนั้น ลงพื้นที่ติดตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์หาดส้มแป้น ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง ตามลำดับ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

 

รองนายกฯกล่าวว่า การลงพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 3 จังหวัดในครั้งนี้ได้รับทราบรายงานสรุปภาพรวมของสภาพพื้นที่ สถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ และผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการแผนงานโครงการในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำไปแล้วหลายโครงการ แต่ยังคงมีแผนงานที่ต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถแก้ไขผลกระทบด้านน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ

 

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ได้มอบหมายให้จังหวัดและ สทนช.บูรณาการหน่วยงานในการเตรียมแผนการรับมือสถานการณ์น้ำ ทั้งน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ พร้อมกำชับให้ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ จัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองให้เพียงต่อความต้องการของประชาชน พร้อมรองรับกิจกรรมการใช้น้ำในอนาคต รวมทั้งเร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และให้รายงานผลต่อคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อเตรียมแผนรับสถานการณ์อุทกภัย ภัยแล้งและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ พร้อมเดินหน้าสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำ มาตรการรับมือทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องด้วย