ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น ระยะ 5 ปี ขับเคลื่อนความร่วมมือหลัก 3 ด้าน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น ในระยะ 5 ปี และร่างถ้อยแถลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เรื่อง การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยทั้งสองประเทศจะมีการลงนามรับรองเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 16 – 19 พ.ย. 2565 ร่างเอกสารแต่ละฉบับ มีสาระสำคัญ อาทิ

 

ฉบับแรก คือ ร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น ในระยะ 5 ปี เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศในการดำเนินความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในห้วงปี 2565 - 2569 โดยมีความร่วมมือ 3 ด้านหลัก ดังนี้

 

ความร่วมมือหลักด้านที่ 1 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับปรุงกฎระเบียบ และนวัตกรรม ประกอบด้วย

 

1.1 การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการส่งเสริมการลงทุน อาทิ ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์  ยานยนต์สมัยใหม่ ยา อุปกรณ์การแพทย์และด้านสุขภาพ เป็นต้น ส่งเสริมกิจการของบริษัทญี่ปุ่นที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของไทย โดยเฉพาะโครงการหลักในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย เช่น EEC

 

1.2 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาขั้นสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ (1)การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดย JICA เช่น ส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 ขยายเครือข่ายการศึกษาระดับสูงในอาเชียนและภูมิภาคอื่น กำหนดหลักสูตรโคเซ็นของญี่ปุ่นให้เหมาะสม และสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันไทยโคเซ็น

 

1.3การส่งเสริมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ Start – up อาทิ ส่งเสริมการลงทุนและการเพิ่มจำนวน Start - up โดยร่วมมือระหว่าง SMEs และ Start – up ของไทยและญี่ปุ่นในภาคอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอัจฉริยะ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอุปกรณ์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า

 

1.4การพัฒนาด้านอวกาศ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อาทิ ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

1.5การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย และ EEC  อาทิ  (1)ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สุขภาพ ดิจิทัล เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ โลจิสติกส์ การวิจัยและพัฒนา (2)ส่งเสริมการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินการร่วมกับญี่ปุ่นใน EEC เช่น เมืองอัจฉริยะ เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการวิจัยด้านสุขภาพจีโนมิกส์ประเทศไทย และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก

 

ความร่วมมือหลักด้านที่ 2 เศรษฐกิจชีวภาพ เศษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ประกอบด้วย 2.1อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน และอุตสาหกรรมสีเขียว อาทิ ส่งเสริมการขยายการลงทุนและธุรกิจใหม่ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ร่วมมือเพื่อส่งเสริมแนวคิด 3Rs (Reduce, Reuse and Recycle) 2.2สิ่งแวดล้อมและพลังงานเพื่อเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน อาทิ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและระบบการจัดการพลังงานแบบรัฐต่อรัฐ 2.3การเกษตรอัจฉริยะและการแปรรูปอาหาร อาทิ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐ เสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจสำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับอาหาร 2.4การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ อาทิ ปรับปรุงการบริหารการเงินของระบบประกันสุขภาพสาธารณะในไทย การเข้าถึงนวัตกรรมด้านเภสัชกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ของญี่ปุ่นในไทย แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับยาและอุปกรณ์การแพทย์ 2.5การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อาทิ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพโดยแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก

 

ความร่วมมือหลักด้านที่ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 3.1การคมนาคมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยง อาทิ ร่วมมือและการลงทุนในด้านการวิจัยและนวัตกรรม 3.2 การค้าดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) อาทิ แบ่งปันองค์ความรู้ สร้างธุรกิจการบริการที่เชื่อถือได้และพัฒนาสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม 3.3โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (การสื่อสาร) อาทิ ยกระดับเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน จับคู่สถาบันวิจัยกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง พัฒนาขีดความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ 3.4เมืองอัจฉริยะ อาทิ แบ่งปันองค์ความรู้ด้านนโยบายเมืองอัจฉริยะระหว่างสองประเทศ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา(R&D) การลงทุนร่วมในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล 3.5การพัฒนาเมือง อาทิ แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์

 

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ฉบับที่สอง คือ ร่างถ้อยแถลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เรื่อง การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเป็น "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน" ผ่านร่างแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อให้นำร่างแผนปฏิบัติการร่วมไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าและความมั่งคั่งร่วมกันของทั้งสองประเทศ