เปิดประวัติ “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17  พร้อมดัน 200 นโยบาย ครอบคลุม 9 มิติ

 

คะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ ผลปรากฎว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครในนามอิสระ มีคะเเนนนำ (ณ เวลา 18.45 น.) ซึ่งคาดว่าจะได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17

นายชัชชาติ มีชื่อเล่นว่า “ทริป” ปัจจุบันอายุ 55 ปี เกิดวันที่ 24 พ.ค. 2509 เป็นบุตรของ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์  จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซสต์ สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง และปริญญาเอกผ่านทุนอานันทมหิดล จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนนา-แชมเปญจน์  

เมื่อจบการศึกษา นายชัชชาติได้เข้าทำงานในบริษัทเอกชน ก่อนจะรับราชการเป็นอาจารย์สอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ และยังเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สินอีกด้วย  อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรต่าง ๆ เช่น การได้รับเลือกเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับเส้นทางการเมือง นายชัชชาติ ได้รับฉายาว่า บุรุษผู้แข็งแกร่งในปฐพี และเริ่มต้นจากการเป็นที่ปรึกษานอกตำแหน่งให้กระทรวงคมนาคม สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ 27 ต.ค. 2555- 22 พ.ค. 2557

ทั้งนี้ นายชัชชาติ ประกาศ 200 นโยบาย ใน 9 มิติ เพื่อเมืองที่น่าอยู่

มิติที่ 1 ปลอดภัยดี 34 นโยบาย ได้แก่ กรุงเทพฯ ต้องสว่าง  พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย หน่วยงานกทม. หน่วยงาน กทม.เข้าใจสนับสนุนความเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายทางเพศ ป้ายรถเมล์และแสงสว่างทุกป้าย ขอดูภาพจากกล้องวงจรปิดออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว เป็นต้น

 มิติที่ 2 สุขภาพดี 34 นโยบาย  ได้แก่ ตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone ตรวจจับรถควันดำจากต้นตอ พยากรณ์แจ้งเตือนฝุ่น PM 2.5  พัฒนา 1,034 ลานกีฬา เป็นต้น

มิติที่ 3 สร้างสรรค์ดี 20 นโยบาย ดึงอัตลักษณ์  สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ  12 เทศกาลตลอดปีกรุงเทพฯ ยกระดับศูนย์กีฬา และศูนย์สร้างสุขทุกวัย พื้นที่สาธารณะเอนกประสงค์ทั่วกรุง ชมรมผู้สูงอายุ พัฒนาป้ายท่องเที่ยวทั่วกรุงเทพฯ  ขนาดเหมาะสม ข้อมูลถูกต้อง เป็นต้น

มิติที่ 4 สิ่งแวดล้อม  34 นโยบาย สวน 15 นาที ทั่วกรุง พิจารณานำสัตว์เลี้ยงไปออกกำลังกายในสวน กทม.ได้ จัดระเบียบสัตว์จร ส่งขยะคืนสู่ระบบ เป็นต้น

มิติที่ 5 บริหารจัดการดี 31 นโยบาย ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมิน ผอ.เขต และผู้ว่าฯ กทม.  สร้างสภาเมืองคนรุ่นใหม่ เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมทั้งของ กทม. และกรุงเทพธนาคม ย้ายระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเข้าสู่ระบบออนไลน์ โปร่งใส ไม่เก็บส่วย เป็นต้น

มิติที่ 6 เรียนดี 28 นโยบาย เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี เพิ่มสวัสดิการครูให้เหมาะสม  พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน ห้องสมุดออนไลน์ อ่านอีบุ๊กได้จากทุกที่ ดูแลห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ให้มีความทันสมัย เป็นต้น

มิติที่ 7 โครงสร้างดี 34 นโยบาย เตรียมโครงสร้างเหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าแผงลอย ปรับปรุงข้อบัญญัติเกี่ยวข้องกับผังเมืองและควบคุมการใช้อาคารให้ทันสมัย ลดจุดเสี่ยงจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม เป็นต้น

มิติที่ 8 เศรษฐกิจดี  30 นโยบาย  พัฒนารถเมล์สายหลัก สายรอง ราคาถูก ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง  น้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย ทั่วกรุง นำร่องผู้อนามัยฟรี ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ตลาด กทม. ออนไลน์ เป็นต้น

มิติที่ 9 เดินทางดี  42 นโยบาย ท่าเรือเข้าสะดวก ออกสบาย รถไฟฟ้าสีเขียว ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เทศกิจผู้ช่วยจราจร ลดรถ ลดติด ด้วยจอดแล้วจร สร้างซ่อมดี เพื่อทางเท้าคุณภาพและคงทน ใช้  CCTV กวดขันวินัยจราจร