"อนุทิน" ยันติดโควิด-19 ใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้ เร่งหารือ กกต. จ่อจัดคูหาพิเศษ ใส่หน้ากาก 2 ชั้น

 

วันที่ 28 เม.ย. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการบริหารจัดการการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่า กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการหารือเร่งด่วนกับ กกต. ในการบริหารจัดการในเขตเลือกตั้ง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด -19 โดยคำนึง และประเมินถึงความปลอดภัย รวมทั้งไม่ลิดรอนสิทธิ์ เพราะแม้จะป่วยหรือไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็ไม่สามารถไปตัดสิทธิ์ในการเลือกตั้งได้ หากยืนยันจะใช้สิทธิ์ในความเป็นประชาชน เพราะการเลือกตั้งคือสิทธิ์ที่ทุกคนหวงแหน การที่ผู้คนเจ็บป่วยออกมาใช้สิทธิ์ไม่ได้ ถือเป็นการก้าวล่วง ก็ต้องหาวิธีจนได้ที่จะทำให้การบริหารจัดการการเลือกตั้งผ่านไปได้ด้วยดี เพราะเราจะเดินทางไปสู่เป้าหมายโรคประจำถิ่น ซึ่งเราก็เดินมากว่าครึ่งทางแล้ว โดยเราลดมาตรการต่าง ๆ ลง เช่น การรักษาพยาบาลจากเดิมทุกคนที่ต้องกักตัวไว้ 14 วันก็ลดลง ตอนนี้บางคนรักษาด้วยตัวเอง บางคนไม่ต้องรับประทานยาก็หายเอง จะเหลือเพียงกลุ่มอาการหนัก หรือกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนถึงจะเข้าสู่การรักษาที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน

 

"ขณะนี้เริ่มมีแนวทางออกมาบ้างแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการหารือของกรมควบคุมโรค และ กกต. ซึ่งอาจจะมีการจัดคูหาหรือช่องแยกโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนก่อนเลือกตั้งต้องตรวจ ATK ก่อนหรือไม่นั้น ทุกวันนี้ประชาชนสามารถตรวจ ATK ด้วยตนเองอยู่แล้ว เมื่อมีอาการสงสัย ซึ่งเมื่อผล ATK เป็น 2 ขีดหรือติดเชื้อ ก็ให้แจ้งหน่วยเลือกตั้ง คนที่มาก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น ยืนยันว่าจะมีการบริหารจัดการการเลือกตั้งให้เกิดความปลอดภัยแก่ส่วนรวมเป็นหลัก จะไม่มีสาเหตุให้เกิดความสูญเสียแน่นอน" นายอนุทินกล่าว

 

เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่เพียงพอหรือไม่ รมว.สธ. กล่าวว่า ก็ต้องทำให้ได้ สามารถผ่านมาได้ทุกครั้ง ที่บอกหมอไม่พอ พยาบาลไม่พอ ก็ต้องทำให้พอ ซึ่งเราก็มี อสม. มาช่วยเสริมกำลังเพิ่มเติม ช่วยสร้างความมั่นคงความมั่นใจให้เกิดขึ้น เพาะเป็นภารกิจที่ไม่ได้เกิดทุกวัน อีกทั้งเป็นเหตุที่มีความสำคัญต่อการบริหารบ้านเมือง ก็ต้องหาวิธีที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ลิดรอนสิทธิ์ประชาชนอย่างเด็ดขาด

อีกทั้งเมื่อถามว่า ขณะนี้มีการรายงานติดเชื้อใหม่เริ่มลดลง มีโอกาสขยับการเข้าสู่โรคประจำถิ่นก่อนวันที่ 1 ก.ค.หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่มีการประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า วัน และเวลาที่จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เราต้องทำพร้อมกันทั่วประเทศ ไม่ใช่เริ่มแค่ที่ใดที่หนึ่ง จะต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน โดยแต่ละจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ ส่วนจังหวัดไหนจะมีมาตรการอย่างไรก็เป็นอำนาจภายใต้กฎหมายของจังหวัดนั้น ๆ