ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษา 'ธาริต' ปฏิบัติมิชอบ แจ้งข้อหา 'มาร์ค-สุเทพ' สั่งฆ่า ปชช. เหตุป่วยโควิด-19 ต้องรักษาอาการ 3 เดือน รอพิจารณาพิพากษาลับหลัง

 

วันที่ 21 เม.ย.2565 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 3 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง

สืบเนื่องจาก จำเลยทั้งสี่ได้ตั้งข้อหากับโจทก์ทั้งสอง ฐานสั่งฆ่าประชาชน กรณี ศอฉ. ออกคำสั่งให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553

นายไพบูลย์ โพธิ์น้อย ทนายความของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โจทย์ที่ 1 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แต่เนื่องจากนายธาริต จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกา ช่วยขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกา โดยแนบเอกสารประกอบการพิจารณา และคำร้องฉบับที่ 2 ขอวางเงินประกันผลไว้ให้กับโจทย์ทั้งสอง จำนวน 3 แสนบาทต่อคน และคำร้องฉบับที่ 3 ขอเลื่อนการพิพากษาคดี โดยอ้างว่าติดโควิด-19 ต้องรักษาตัวนาน 3 เดือน

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า คำร้องฉบับแรกได้มีการคัดค้าน เนื่องจากเอกสารที่นำมายื่นเป็นเอกสารนอกสำนวน ควรยื่นตั้งแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ แต่กลับเอามายื่นเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วเสร็จ

ส่วนคำร้องฉบับที่ 2 โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ที่จะรับเงิน โดยให้เหตุผลว่าสิทธิ์ในทางแพ่งมีอยู่แล้ว ทั้งนี้ โจทก์ทั้งสองจะใช้สิทธิ์ทางแพ่งหรือไม่นั้นเป็นสิทธิ์ของโจทก์

ส่วนคำร้องขอเลื่อนการพิพากษาคดี โดยอ้างว่าติดโควิด-19 และมีใบรับรองแพทย์ยืนยันนั้น ไม่ได้คัดค้าน แต่เห็นว่าระยะเวลา 3 เดือนนานเกินไป จึงขอให้ศาลพิจารณาอ่านลับหลัง แต่ด้วยเหตุที่นายธาริตจะยื่นคำร้องเข้ามา ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาสั่งคำร้องในส่วนของคำร้องที่ส่งให้ศาลฎีกา จึงต้องส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งก่อน แล้วจึงนำมาพิจารณาภายหลังว่าสามารถพิพากษาลับหลังได้หรือไม่