คสรท.ยื่น 9 ข้อเรียกร้องสิทธิ์ ต่อรัฐบาล เนื่องในวันสตรีสากล จี้รัฐรับรอง ILO 183,189,177 ห้ามเลิกจ้างคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ ให้ลาคลอดได้ 180 วัน  ส่วนลูกจ้างผู้ชาย 30 วัน โดยไม่หักค่าจ้าง

 

วันที่ 8 มี.ค. 2565 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานจัดงานวันสตรีสากล และประธานกลุ่มงานสตรีสากล และเยาวชน คสรท. พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายเพศสภาพ ได้นัดหมายร่วมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมงานวันสตรีสากล ประจำปี 2565 จากนั้นเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของสตรีเพื่อเรียกร้องให้ีัภาครัฐแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้แรงงานหญิงเร่งดำเนินการทางนโยบายและกฎหมาย, ปกป้องคุ้มครองและยาสิทธิของผู้หญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีตามหลักการกฎบัตรขององค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการประสานความร่วมมือกับนายจ้างผู้ประกอบการการทำธุรกิจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ฉกฉวยสถานการณ์ covid-19 ด้วยการเลิกจ้างลอยแพหรือเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิง ซึ่งรวมไปถึงการเลิกจ้างแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ด้วย

โดยระหว่างการเคลื่อนขบวนรวมถึงการปักหลักรอการประกาศเจตนารมณ์หน้าทำเนียบรัฐบาลได้มีการตัวแทนสลับกันขึ้นปราศรัยสะท้อนถึงปัญหาของผู้ใช้แรงงานและปัญหาของแรงงานหญิง รวมทั้งทวงถามข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานที่ผ่านมา ตลอดจนข้อเรียกร้องในวันสตรีสากล โดยเนื้อหาการยื่นหนังสือมาจากที่ คสรท.มีมติร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเนื่องในวันสตรีสากลปี 2565 พร้อมกับติดตามข้อเสนอต่อรัฐบาลที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือไม่มีความคืบหน้ารวม 9 ข้อ ได้แก่

1) รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา 

2) ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ลาคลอดได้ 180 วันและผู้ชายดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามจริง 100% เเละเร่งรัดการจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด 98 วันตามมติ ครม.เห็นชอบให้ครบถ้วน 

3) รับรองอนุสัญญา ILO 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน โดยเฉพาะการเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์และการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็นคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้ 

4) รับรอง ILO 189 ว่าด้วย งานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านให้ได้รับสิทธิประโยชน์และอนุสัญญา ILO 177 ว่าด้วย งานที่รับไปทำที่บ้านเพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและค่าจ้างที่เป็นธรรม 

5) รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ รวมถึงหามาตรการป้องกันคุ้มครองและเยียวยาเพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ตามหลักการดำเนินงาน "ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน" หรือ UNGP ปีที่รัฐบาลไทยให้สัตยาบันและยังไม่มีการดำเนินการใดๆ 

6) รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปีเดือนละ 600 บาท 

7) รัฐต้องกำหนดสัดส่วนที่เท่ากันระหว่างชาย-หญิงและเพศสภาพ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม 

8) รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มี.ค. ของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี 

9) รัฐต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โดยใช้เวลาเคลื่อนขบวนประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล และตัวแทนประกาศเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องทั้ง 9 ข้อ ในเวลาประมาณ 12.30 น.ก่อนสลายตัว