สธ.เผย โควิด 'โอมิครอน' แพร่ระบาดครบทุกจังหวัดในประเทศไทย นทท. จากต่างประเทศที่ป่วย เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด ยังมาจากสายพันธุ์เดลตา

 

วันที่ (21 ม.ค. 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทย วันนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบเจอเชื้อโอมิครอน โดยพบแล้วทุกพื้นที่ ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 17,021 ราย จังหวัดที่สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ และ เชียงใหม่ เพิ่มขึ้นกว่า 200 ราย และเป็นการติดเชื้อในพื้นที่ร้อยกว่าราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ ร้อยละ 97 เป็นการติดเชื้อโอมิครอน ดังนั้น คนที่ตรวจหาเชื้อพบผลบวก ก็เชื่อได้เลยว่าเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด

ส่วนกลุ่มในประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตรวจกลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศ และเดินทางผ่านชายแดนเข้ามาทุกราย ด้วยวิธี RT-PCR และจำนวนหนึ่งจะส่งมาถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งตัว โดยสุ่ม 140 ตัวอย่าง ต่อศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมี 15 แห่งทั่วประเทศ และครึ่งหนึ่งจะถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งตัว การสุ่มในภาพรวมจากผลบวกในแต่ละวัน คลัสเตอร์การระบาด กลุ่มที่ได้วัคซีนแล้ว และกลุ่มที่มีอาการเสียชีวิต บุคลากรการแพทย์ คนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

 

สรุป สถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค. 2565

1. การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด (96.9%) และการติดเชื้อในประเทศ พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 80.4%

2.กลุ่มที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ยังพบสัดส่วนของสายพันธุ์เดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มทั่วไป

3. กลุ่มที่ได้วัคซีนครบ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังพบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่บ้าง

4.กลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำทุกรายเป็นสายพันธุ์โอมิครอน

5.คาดว่าปลายเดือนมกราคม การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน เกือบทั้งหมด


นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่ข้อสรุปว่า เชื้อโอมิครอนมีการระบาดเร็ว คนที่มาจากต่างประเทศ ร้อยละ 97 เป็นเชื้อโอมิครอน ดังนั้น จากนี้อาจจะไม่ต้องตรวจหาสายพันธุ์แล้ว แต่ให้สันนิษฐานเลยว่าเป็นเชื้อโอมิครอน ส่วนในประเทศเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 80 เชื้อเดลต้า ร้อยละ 20 ส่วนผู้เสียชีวิต ยังเกิดจากเชื้อเดลต้าเกินค่าเฉลี่ย ดังนั้น อย่าสันนิษฐานว่าติดเชื้อตอนนี้เป็นเชื้อโอมิครอนแล้วอาการไม่รุนแรง แต่แท้จริงอาจจะเป็นเชื้อเดลต้าก็ได้ กลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำ เกิดจากเชื้อโอมิครอน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นข้อมูลออกมาเรื่อย ๆ

“ดูข่าวนักการเมืองใหญ่บอกว่า ฉีดวัคซีนแล้ว เคยติดเชื้อแล้ว ยังเป็นเชื้อโอมิครอนซ้ำได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเชื้อโอมิครอนหลบวัคซีนได้ วัคซีน 2 เข็ม อาจจะไม่เพียงพอป้องกันการติดเชื้อ และคาดว่าสิ้นเดือนนี้ ภายในประเทศจะเป็นเชื้อโอมิครอนเท่ากับคนเดินทางมาจากต่างประเทศ และเชื้อเดลตาจะหายไปทั้งหมด” นพ.ศุภกิจ กล่าว