อธิบดีกรมปศุสัตว์ สวมกอด อาจารย์ ม.เกษตร หลัง นายกฯ เรียกแจงด่วน ปม ASF ขอเวลา 8-12 เดือน พลิกสถานการณ์ ยันไม่ถอดใจ ระบุ ผ่านมาหลายโรคก็ควบคุมได้ ยืนยันหมูติดโรคกินได้ไม่ระบาดสู่คน ขณะที่ นายกฯ สั่ง ควบแพร่ระบาด ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย ตรึงราคา 

 

14 ม.ค. 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์, นายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อชี้แจงประเด็นการแก้ไขปัญหา อหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ส่งผลทำให้ราคาเนื้อสุกรภายในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์

โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ เปิดเผยหลังที่แจ้งต่อนายกรัฐมนตรีว่า ได้เรียกมาถามว่า กรมปศุสัตว์ ขณะนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ไปถึงไหนแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเข้าใจ และต้องการให้เดินหน้าไปด้วยกัน โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการเรื่องของการควบคุมโรคเร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และฟื้นฟูเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ว่า จะมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

ส่วนการพัฒนาวัคซีนโรคนี้เกิดมาร้อยกว่าปีแต่ยังไม่มีวัคซีน และแนวทางการสำรวจว่าสุกรที่สูญหายไปจากระบบกว่าร้อยละ 50-60 เป็นจริงหรือไม่ ซึ่งได้ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทำให้ประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด

 

ขณะที่ การตรึงราคาสินค้าสุกร ต้องคุยกับกรมการค้าภายใน นายกรัฐมนตรีรับทราบมาโดยตลอดว่ากรมปศุสัตว์ทำอะไรตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่า กรมปศุสัตว์นั้นปกปิดการแพร่ระบาด นายสัตวแพทย์สรวิศ ชี้แจงว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเข้าใจ เนื่องจากได้รายงานนายกรัฐมนตรีโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2561 ที่แพร่ระบาดในประเทศจีน และปี 2562 ทำอะไรไปบ้างยกระดับสู่การเป็นวาระแห่งชาติ หากปกปิดจะส่งออกไปต่างประเทศในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งเวียดนามและกัมพูชาไม่ได้ เพราะจะต้องมีการตรวจโรค

ขณะที่ การของบประมาณ 574 ล้านบาท เพื่อเยียวยา ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย จากการลดความเสี่ยง เกิดโรคระบาด ตามหลักระบาดวิทยาของสัตวแพทย์ ที่จะต้องมีการประกาศการแพร่ระบาดและให้รัฐบาลเป็นผู้ชดเชยเยียวยา ซึ่งจะเป็นการชดเชย จะครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยไม่ ไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการรายใหญ่

ส่วน นายกรัฐมนตรีได้มีการขีดเส้นตายในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ระบุว่าไม่ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยเหลือกัน เพราะต้องเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิด 34 ประเทศทั่วโลก แต่นายกรัฐมนตรีได้ถามตนว่า ราคาสุกร ทั้งระบบจะแล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งตนก็มีการรายงานไปว่าจะใช้เวลา 8-12 เดือน

ขณะที่วานนี้ ที่ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปว่า ไม่ทราบว่าหมูหายไปไหน อธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้แจงว่า ปกติถ้ามีการแจ้งมากรมปศุสัตว์ก็จะมีการตรวจสอบ และเก็บตัวอย่าง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้สำรวจว่า สุกรนั้นมีอยู่เท่าไหร่

 

ส่วนฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ออกมาระบุว่า มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ASF และมีหมูล้มตาย มากว่า 2 ปีแล้วนั้น นายสัตวแพทย์กิจจา ระบุว่า ประเด็นสำคัญเมื่อประกาศโรคอย่างเป็นทางการแล้ว มาตรการที่จะต้องดำเนินการตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ เป็นเรื่องการฟื้นฟู อุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรให้เข้มแข็งขึ้นเหมือนเดิม ส่วนความเสียหายเป็นอย่างไรนั้นต้องรอการประเมินอีกครั้งหนึ่ง พร้อมย้ำว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ จะต้องควบคุมการแพร่ระบาด โดยใช้หลักวิชาการเป็นหลักแต่ไม่ให้เดือดร้อนกับผู้เลี้ยงและผู้บริโภค เรื่องก่อนหน้านี้เป็นเรื่องก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่เราไม่ต้องพูดถึงแล้ว ส่วนราคาเนื้อหมูในปัจจุบันก็มีอยู่หลายปัจจัย

ส่วนประเด็นที่กลายเป็นว่า ผู้บริโภคนั้นบริโภคหมูที่ติดเชื้อ มากว่า 2 ปีแล้วนั้น นายสัตวแพทย์กิจจาที่แจ้งว่า หากเป็นโรคนี้จริง ไม่มีการก่อโรคในคน และสัตว์ชนิดอื่น เนื้อหมูยังสามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องเน้นสุขอนามัยที่ต้องกินสุก และไม่มีพิษภัยต่อคน ยกเว้นสุกร ขออย่าตระหนกและตกใจ

อธิบดีกรมปศุสัตว์ยังปฏิเสธ ระบุว่า ไม่ทราบ ถึงกรณีที่มีการข่มขู่เกษตรกร ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดในพื้นที่ ส่วนเรื่องนี้ทำให้ถอดใจหรือไม่ นายสัตวแพทย์สรวิศ ย้ำว่า ตั้งแต่ทำงานมาเป็นอธิบดี ก็ผ่านโรคระบาดมาหลายครั้ง ก็สามารถควบคุมเรียบร้อยทั้งหมด เช่น โรคในม้า และ ลัมปีสกินในวัว ส่วนโรคนี้เกิดมาร้อยปีแล้วยังไม่มีวัคซีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เข้าใจและให้กำลังใจในการทำงานสำเร็จลุล่วง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ภายหลังการหารือกับนายกฯ แล้วเสร็จ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายสัตวแพทย์กิจจา ได้สวมกอดให้กำลังใจกันด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนเดินมาพบผู้สื่อข่าวด้วย