หมูราคาแพง!!!

กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญในเวลานี้ เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายล้วนต่างได้รับผลกระทบ เมื่อราคาหมูดีดตัวเกิน กก.ละ 200 บาท นั่นจึงส่งผลให้หลายร้านค้าต้องปรับตัวขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูปเเละหันไปใช้วัตถุดิบอื่นอย่างเนื้อไก่เเทน

‘วรเศรษฐ์ ศรีโสตถิโยดม’ เจ้าของเขียงหมูในตลาดสดเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่เปิดกิจการมากว่า 50 ปี ต้องยอมรับว่าไม่เคยเจอปรากฏการณ์ราคาเนื้อหมูแพงทะลุ  200 บาท มาก่อน โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายเนื้อหมูสด สามชั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 240 บาท เนื้อหมูสันนอก-ใน  220 บาท เนื้อสะโพกบด 200 บาท และเนื้อสันคอ 220 บาท ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของลูกค้าถึงร้อยละ 70 ทั้งกลุ่มร้านอาหาร และลูกค้ารายย่อยประเภทครัวเรือน ที่ลดปริมาณการซื้อลง และหันไปซื้อเนื้อสัตว์ประเภทอื่นมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน

เขาจึงอยากฝากถึงภาครัฐให้หามาตรการควบคุมราคาเนื้อหมู เนื่องจากเป็นวัตถุดิบอาหารหลักของคนไทย หากราคายังขยับขึ้นเช่นนี้ ไม่ใช่แค่เพียงผู้บริโภคเท่านั้นที่จะไม่ไหว แต่วิกฤตนี้ยังส่งผลต่อเพื่อนร่วมอาชีพเขียงหมู ที่ทยอยปิดกิจการไปแล้วหลายราย เพราะทนแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว

ทั้งนี้ คาดว่าราคาเนื้อหมูจะขยับตัวขึ้นเช่นนี้ไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งหวังได้แต่เพียงว่าจะไม่ขยับราคาขึ้นไปมากกว่านี้อีกแล้ว

เช่นเดียวกันกับ ‘สุวิทย์ ปันเจิง’ พ่อค้าขายข้าวขาหมูพะโล้ ยอมรับว่า หลังหมูขึ้นราคา ส่งผลกระทบกับตนเองเช่นกัน เพราะลูกค้าเริ่มหันไปบริโภคอย่างอื่นแทน  ทำให้ต้องลดการสั่งขาหมูมาทำพะโล้ขายลง จากเดิมที่เคยสั่งเกือบวันละ 60 กิโลกรัม ลดลงเหลือวันละถึง 20 กิโลกรัม

ส่วนราคาหมูพะโล้ ต้องจำใจขึ้นราคา จากเดิมขาย 40-50 บาท ปรับขึ้น 50-60 บาท แต่ถึงแม้จะขึ้นราคาแต่ก็มีการเพิ่มปริมาณหมูพะโล้ให้ลูกค้าด้วย เพื่อให้ลูกค้าพอใจและตัวเองก็อยู่ได้ พร้อมกับอยากฝากวอนรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยจริงจังกับควบคุมราคาหมูให้กับชาวบ้านด้วย เพราะไม่สามารถจะแบกรับต้นทุนที่สูงได้

 

@หารือ ก.พาณิชย์ สั่งหยุดส่งออกเนื้อหมู

 

ด้าน ‘ประภัตร โพธสุธน’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรภายในประเทศปี 2563 – 64 มีผู้ประกอบการรวม 190,000 ราย สามารถผลิตสุกรประมาณ 20 ล้านตัว/ปี ประมาณ 10,000 ราย เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ มีปริมาณสุกรมากกว่า 10 ล้านตัว และอีก 180,000 ราย เป็นเลี้ยงสุกรรายเล็กรายย่อย

โดยเมื่อปี 2563 - 64 ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเกิดโรคระบาดในสุกร โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)   ทำให้ไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงปรับแผนลดการผลิตสุกรขุนลง ส่งผลให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง ในขณะที่ปี 2564 - ปัจจุบัน รัฐบาลไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุม ยับยั้งการระบาดของโรคในสุกรได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้สุกรไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคาเนื้อหมูสดภายในประเทศปรับราคาสูงขึ้น 

 

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรภายในประเทศ จึงได้สั่งการมายังกระทรวงเกษตรฯ ให้เร่งติดตามและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนทั้งในระยะสั้น เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน และในระยะกลาง - ยาว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการที่เลี้ยงสุกรทุกขนาด ให้กลับมาประกอบอาชีพ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ในครัวเรือน และสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ และในฐานะที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะหยุดการส่งออกสุกรในทันที เพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ”

 

สำหรับในระยะกลาง - ยาวนั้น รมช.กษ. ระบุกรมปศุสัตว์จะเริ่มส่งเสริมเกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยเดิม ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเลี้ยง โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ โดยคาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมหารือมาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ประเทศไทยมีความต้องการใช้ถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง4 ล้านตัน/ต่อปี  

ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งเตรียมการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีความเสี่ยงจากโรคระบาด เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ในการผลักดัน “ปศุสัตว์ Sandbox” หรือเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ ส่งเสริมการนำเข้า การผลิต–ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ตามโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยด่วน