นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. กล่าวถึงเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ 'โอมิครอน' หลัง WHO ออกมาบอกว่าเป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง โดยระบุว่า 

 

WHO ยังจัดให้โควิดเดลตาเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดรุนแรง ครอบคลุมทั่วโลก ส่วนสายพันธุ์ 'โอมิครอน' เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องจับตามอง ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้นำตัวอย่างเชื้อจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย เพื่อตรวจหาเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้ ทั้งหมด 75 ตัวอย่าง จากประเทศต้นทางดังนี้ การ์ตา รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน อเมริกา อังกฤษ ผลการเฝ้าระวัง 45 ตัวอย่าง ยังไม่พบสายพันธุ์ 'โอมิครอน' ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจวิเคราะห์ 30 ตัวอย่าง เจาะจงตัวอย่างเฉพาะของนักท่องเที่ยว เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ( 27 พ.ย.) จากประเทศต้นทาง โปแลนด์ รัสเชีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม มองโกเลีย ไอร์แลนด์ และลาว ก็ยังไม่พบสายพันธุ์ 'โอมิครอน' พบเพียงโควิดสายพันธุ์ 'เดลตา'


ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR และ ATK ยังเป็นการตรวจหาเชื้อที่เป็นวิธีมาตรฐานของทั่วโลกในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ได้ โอกาสที่เชื้อจะหลุดรอดการตรวจ มีโอกาสน้อยมาก ซึ่งข้อมูลของ Antibody ในชุดตรวจ ATK ที่จับกับโปรตีน N ของเชื้อก่อโรคโควิด-19 การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าส่งผลกระทบต่อการตรวจด้วย ATK

ณ ปัจจุบัน การติดเชื้อสายพันธุ์ 'โอมิครอน' ในทั่วโลกอยู่ในระดับ 100 คน ชุดข้อมูลยังมีน้อยในการวิเคราะห์ว่า แพร่กระจายเร็ว-ช้า ลุกลามรุนแรง หลบภูมิได้มากเพียงใด จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก นพ.ศุภกิจ กล่าว

ซึ่งต่อจากนี้จะเร่งนำเคสนักท่องเที่ยวที่บินเข้ามาในไทยแบบถูกกฎหมาย บังคับนำเชื้อที่เป็นบวกไปถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อหาว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ต่อไป ประชาชนโปรดไว้วางใจมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย สำหรับประชาชนยังคงเน้นย้ำมาตรการป้องกันโควิด เว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากาก และฉีดวัคซีนป้องกัน

 

สั่ง 8 ชาติแอฟริกา งดเข้าไทย

วานนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. นายกฯ สั่งการให้ติดตามสายพันธุ์โอมิครอนและดำเนินมาตรการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย เบื้องต้นสายพันธุ์โอมิครอน ข้อมูลเชิงระบาด ความสามารถที่หลบหลีกวัคซีนและยา ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ทั่วโลกกำลังร่วมจับตา โดยไทยมีการจับตาใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ องค์การอนามัยโลก และมีการวางมาตรการ ดังนี้

การเดินทางเข้าราชอาณาจักรสำหรับประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศที่พบสายพันธุ์โอมิครอนใน 8 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว เป็นกลุ่มประเทศที่มีการระบาด ผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าประเทศมาแล้ว จะมีการสั่งกักตัวเพิ่มเป็น 14 วัน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และไม่อนุญาตให้คนที่เดินทางจาก 8 ประเทศดังกล่าว มาสู่ราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564

รวมถึงไม่อนุญาตให้มีการลงทะเบียนเข้าสู่ประเทศไทยในระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น COE หรือ Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. เป็นต้นไป