ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก "ซินแสโชกุน" 4,355 ปี

(12 มี.ค. 2564) ที่ห้องพิจารณาคดี 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.2176/2560 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด, น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน อายุ 34 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ และพวกรวม 10 คน ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3, 4, 12

และฟ้องจำเลยที่ 2-10 ในความผิดฐานร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลนั้นเป็นเท็จน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1) และเป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210

คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 ว่า การกระทำของ บจก.เวลท์เอเวอร์ จำเลยที่ 1, น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 2, น.ส.ทัศย์ดาว จำเลยที่ 5 และ นางพารินธรญ์ จำเลยที่ 8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 5, 12 ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และ พ.ร.บ.อาหาร มาตรา 6 เฉพาะจำเลยที่ 1-2 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ซึ่งการกระทำฐานฉ้อโกงและการนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมฯ จำคุกจำเลยที่ 2, 5, 8 คนละ 871 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 4,355 ปี ให้ปรับบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 435,500,000 บาท และให้ปรับจำเลยที่ 1-2 รายละ 20,000 ตามความผิด พ.ร.บ.อาหาร จึงรวมโทษปรับบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 435,520,000 บาท ส่วนโทษจำคุกจำเลยที่ 2, 5, 8 เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) แล้ว ให้จำคุกจำเลยได้สูงสุดคนละ 20 ปี

ทั้งนี้ ศาลยังพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2, 5, 8 ร่วมกันชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 871 ราย มูลค่ากว่า 51 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง 6 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ริบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของกลางจากรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมจำเลยที่ 2, 5, 8 ร้อยละ 25 ของค่าปรับจำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4, 6, 7, 9, 10

ต่อมา น.ส.พสิษฐ์ หรือซินแสโชกุน กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ จำเลยที่ 2, นางพารินธรญ์ ผู้ดูแลการเงินและผู้ช่วยการโฆษณาของบริษัท จำเลยที่ 8 ยื่นอุทธรณ์สู้คดี ในวันนี้ศาลเบิกตัวจำเลยที่ 2, 5, 8 มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนจำเลยที่ 3, 4, 6, 9, 10 เดินทางมาฟังคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว อุทธรณ์ของซินแสโชกุน จำเลยที่ 2 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ส่วนที่อัยการโจทก์อุทธรณ์ นางประนอม จำเลยที่ 6 และ น.ส.สุดารัตน์ จำเลยที่ 9 กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1-2 มีการโฆษณากล่าวอ้างว่าสามารถพาไปเที่ยวต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง การทำธุรกิจนี้มีการจัดประชุมและสัมมนาหลายครั้ง จำเลยที่ 6, 9 ซึ่งเป็นรองประธานบริษัทและพนักงานบริษัท ได้เข้าร่วมประชุมหลายครั้ง น่าจะทราบว่าการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1-2 ไม่สามารถทำได้ แต่ก็ยังร่วมกันช่วยเหลือให้ดำเนินการต่อไปได้ และหากจำเลยที่ 5, 6, 8, 9 เชื่อมั่นว่าตนเองบริสุทธิ์จริง ก็ควรจะเข้ามอบตัวสู้คดีกับพนักงานสอบสวน แต่กลับเดินทางไปที่ จ.ระนอง พร้อมกับจำเลยที่ 2

ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 6, 9 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 5, 6, 8, 9 เป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1-2 ให้กระทำความผิด ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุด ตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทงละ 3 ปี 4 เดือน โดยกระทำผิดรวม 871 กระทง จำคุกจำเลยที่ 5, 6, 8, 9 คนละ 2,903 ปี 4 เดือน แต่เมื่อรวมโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว จำคุกสูงสุดคนละ 20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น