191 สนธิกำลัง อย. บุกทลายโรงงานลอบผลิตถุงมือแพทย์ไม่ได้มาตรฐาน นำถุงมือใช้แล้วมาบรรจุใส่กล่องย้อมแมวขายลูกค้า

(9 ม.ค. 2564) เจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 สนธิกำลังเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ปิดล้อมตรวจค้นโกดังเลขที่ B70/1 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังสืบทราบว่าสถานที่ดังกล่าวมีการลักลอบผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยไม่ได้คุณภาพ

ที่เกิดเหตุเป็นโกดังขนาดใหญ่ มีรั้วรอบขอบชิด ภายในดัดแปลงเป็นสถานที่เก็บอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง เพื่อเตรียมส่งจำหน่ายให้กับลูกค้า เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวพร้อมกับตรวจยึดถุงมือทางการแพทย์ชนิดต่าง ๆ หลากหลายยี่ห้อ ไว้เป็นของกลางเพื่อนำมาทำการตรวจสอบอย่างละเอียดว่า ผ่านมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ได้ทำการตรวจยึดถุงมือยางแพทย์จำนวนประมาณ 2,064,000 ชิ้น, กล่องบรรจุภัณฑ์ถุงมือยางจำนวนประมาณ 120,000 กล่อง, เครื่องซีลพลาสติก จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องชั่งดิจิตอลจำนวน 2 เครื่อง รวมมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท

โดย พล.ต.ต.สำราญ นวลมา รอง ผบช.น. กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน และสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ขณะเดียวกันทำให้ความต้องการในการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นที่ต้องการ ทำให้มีการลักลอบจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และเป็นการสบโอกาสให้กลุ่มมิจฉาชีพอาศัยจังหวะก่อเหตุและเพื่อเป็นการป้องปราม จึงสั่งการให้ชุดสืบสวนแกะรอยสืบหาเบาะแสต่าง ๆ ของขบวนลักลอบจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต่ำกว่ามาตราฐาน

กระทั่งทราบว่า สถานที่ดังกล่าวมีการลักลอบผลิตและซุกซ่อนถุงมือยางทางการแพทย์ที่ใช้แล้วนำกลับมาแพ็คเกจจำหน่ายใหม่จึงสนธิกำลังเข้าตรวจค้น ซึ่งพบของกลางหลายรายการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐานไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์และฐานผลิตซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ปลอดภัยในการใช้

สอดรับกับ พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว ผบก.บก.สปพ. ที่กล่าวว่า กรณีถุงมือทางการแพทย์มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้สวมมือ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนระหว่างผู้ป่วยและผู้ใช้ในการตรวจวินิจฉัยหรือรักษาโรค และรวมถึงการใช้สำหรับการจับหรือสัมผัสกับวัสดุทางการแพทย์ที่อาจปนเปื้อนด้วย โดยสถานที่ผลิตจะต้องมีการควบคุมคุณภาพและการเก็บรักษาเครื่องมือแพทย์ให้ถูกสุขลักษณะ รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด หากผลิตภัณฑ์มีข้อบกพร่องไม่ได้มาตรฐานอาจส่งผลเสียได้ทั้งต่อผู้ป่วยและผู้สวมใส่ ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดทั่วโลกในขณะนี้ มักพบการฉวยโอกาสลักลอบผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต้องใช้เกี่ยวกับการป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 เป็นจำนวนมาก