กรมประมง ปิดอ่าว ตัว ก.2 ช่วง สัตว์น้ำวางไข่ 15 มิ.ย.- 30 ก.ย. นี้ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล 8 จังหวัด พร้อมขอความร่วมมือชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ใช้เครื่องมือจับปลาได้เฉพะที่ประกาศเท่านั้น

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงจะประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนทะเลอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ประจำปี 2563 แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตก บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร

โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ 2,350 ตารางกิโลเมตร และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือ บางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 1,650 ตารางกิโลเมตร

ทั้งนี้ เครื่องมือประมงที่ใช้ได้ ประกอบด้วย เครื่องมือลอบหมึก ซั้ง จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง อวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียวขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส อวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีขนาดช่องตาอวนตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป อวนติดตาชนิด อวนปู อวนกุ้ง อวนหมึก

ส่วนอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึกที่ใช้ประกอบ เครื่องปั่นไฟให้ทำประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไปและใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูกต่อเรือประมง 1 ลำสามารถทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้ หากเกินกว่า 300 ลูก ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง เครื่องมืออวนรุนเคยและเครื่องมือคราดหอยต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 30 ล้านบาท ตามขนาดของเรือประมง หรือปรับ 5 เท่า ของมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า และเครื่องมือประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สินค้าสัตวน้ำ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิดจะถูกริบและต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า จากการสำรวจปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำ หลังมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ปี 2562 ผลการจับปลาเศรษฐกิจสูงขึ้น 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมาตรการ โดยกลุ่มปลาเศรษฐกิจที่พบมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ ปลามงโกรย ปลาหลังเขียว และปลาทู สำหรับปลาทูยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น พบว่า ผลผลิตโดยรวมสอดคล้องกับผลการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับวงจรชีวิตของสัตว์น้ำที่อพยพตามห้วงเวลาในแต่ละพื้นที่ คือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี พบปลาทูในพื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 1 มีขนาดเฉลี่ย 13 – 14 เซนติเมตร หรือที่ชาวประมงเรียก “ปลาสาว” ยังไม่สามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้

ซึ่งปลาทูกลุ่มนี้จะอพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 2 พบว่า มีขนาดเฉลี่ย 16-18 เซนติเมตร ซึ่งเป็นแม่ปลาที่พร้อมผสมพันธุ์และจะกลับลงไปวางไข่ในบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง (มาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง) ปีถัดไป ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสัตว์น้ำเหล่านี้ไม่ให้ถูกจับก่อนที่จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์และวางไข่ หรือถูกจับก่อนวัยอันควร เพื่อเป็นการเพิ่มทั้งขนาดและมูลค่าของสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญจะส่งผลให้ปลาทูกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ดังเดิม