"คนร." เห็นชอบยกเลิกมติเดิม ที่ให้คลังเข้าไปค้ำเงินกู้ให้การบินไทย เปลี่ยนเป็นให้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.วันนี้ รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50%

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการจะดำเนินการทั้งศาลล้มละลายไทยและศาลล้มละลายสหรัฐ รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยที่ประชุมได้พลิกมติ คนร.เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมที่ให้กระทรวงการคลัง เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ เพื่อมาเสริมสภาพคล่อง แล้วทำการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กร ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอ เปลี่ยนมาเป็นแนวทางของกระทรวงคมนาคม ที่เสนอให้ทำแผนเพื่อยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย ต่อศาลล้มละลายกลาง โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คนร.เห็นชอบให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ขอให้เข้าใจว่าเป็นคนละเรื่องกับการล้มละลาย ขอให้รู้แค่นี้พอ เพราะต้องให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน เมื่อถามว่าจะลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์โบกมือทำสัญลักษณ์ว่าไม่มี เมื่อถามย้ำว่า ไม่ได้มีการค้ำประกันเงินกู้แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถามนี้

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลการประชุมครั้งนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. วันที่ 19 พ.ค.นี้ ส่วนรายละเอียดต้องรอการพิจารณาของ ครม.ก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้สร้างการรับรู้ว่าแนวทางการฟื้นฟู ส่วนจะยื่นศาลไทยหรือศาลสหรัฐฯยังไม่ได้คุยในรายละเอียด แต่อาจเป็นศาลล้มละลายกลางของไทย และยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่จะยื่นต่อศาลเมื่อใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนร. มีมติให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง ในการบินไทย จากเดิมที่ถือหุ้น 51% ลดลง 3% หรือเหลือ 48% เพื่อให้พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การฟื้นฟูกิจการมีความคล่องตัว สัดส่วนหุ้นที่ลดลง จะถูกขายต่อให้กองทุนวายุภักษ์ และทำให้กระทรวงการคลังขาดทุน เนื่องจากราคาต้นทุนที่เข้าไปซื้ออยู่ที่ 14 บาทต่อหุ้น ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 4 บาทต่อหุ้น

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูกิจการการบินไทยประกอบด้วย

1.เริ่มจากการให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงการคลังขายหุ้นการบินไทย 3% ให้กองทุนวายุภักดิ์ ภายหลังการขายหุ้นแล้วทำให้คลังเหลือการถือหุ้น 47%

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นการบินไทยรวม 1,113.93 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 51.03% หากกระทรวงการคลังต้องขายหุ้นออก 3% จะมีหุ้นที่ถูกขายออกมาราว 65.48 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นการขาดทุนรวม 654 ล้านบาท

2.จากนั้นจะปรับโครงสร้างการบริหาร โดยให้กรรมการลาออกจนเหลือ 3 คน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าเหลือใครและจะเติมกรรมการใหม่เข้าไป ขั้นแรก 3 คน ที่วางตัวไว้ ได้แก่ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอ ปตท. นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ และอดีต ดีดีการบินไทย

3.ร้องขอต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเมื่อศาลรับฟื้นฟูกิจการ หนี้ของการบินไทยจะผิดนัดชำระหนี้ (default) โดยอัตโนมัติ ในประเด็นนี้ทีมบริหารคิดว่าจะดูแลในส่วนหนี้สหกรณ์ 3.6 หมื่นล้านบาท ยืดหนี้ออกไป โดยมีเงื่อนไขจะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม

4.ล้มแนวคิดเดิมที่ต้องการให้ การบินไทย เป็นโฮลดิ้ง คัมพานี โดยการยกเลิกการตัดขายกิจการในเครือทั้งหมด เช่น ครัวการบินไทย หรือ ไทยสมายล์

5.การดูแลเจ้าหนี้ต่างประเทศ จะเดินคู่ขนานกับศาลไทยและศาลสหรัฐ ที่ต้องยื่นฟื้นฟู โดยอาศัย Chapter 11 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ เพราะการบินไทยต้องดำเนินกิจการต่อไป หากบินไปในต่างประเทศอาจจะโดนยึดเครื่องบินไทย รวมทั้งการดูแลเจ้าหนี้ลิสซิ่งเครื่องบินด้วย ซึ่งมีสหรัฐ อังกฤษ และเยอรมัน เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่

ทั้งนี้ ฐานะการเงินของการบินไทย สิ้นปี 2563 จากการประเมินของฝ่ายบริหารการบินไทย ระบุว่าจะขาดทุนสุทธิ 59,000 ล้านบาท ส่วนของทุน 4.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้สินที่มีดอกเบี้ย (ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน) อยู่ที่ 220,000 ล้านบาท

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขอย้ำว่านี่ไม่ใช่การล้มละลาย แต่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้โดยอาศัย พ.ร.บ.ล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อถามว่าตามแผนนี้ กระทรวงการคลัง ยังต้องค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย อยู่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า โดยหลักแล้วไม่ควรเป็นอย่างนั้น เพราะการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน แต่ถ้ากระทรวงการคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ให้ ก็ไม่ต้องฟื้นฟู เมื่อถามว่าหลังผ่านการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย การบินไทยต้องพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตามขั้นตอนก็เป็นอย่างนั้น เพราะจะได้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกัน เพราะการฟื้นฟูตามแนวทาง พ.ร.บ.ล้มละลาย เจ้าหนี้กับผู้จัดทำแผนต้องมาตกลงร่วมกัน และการฟื้นฟูในแนวทางดังกล่าวกับกิจการ ที่มีหนี้สินจำนวนมากเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้กิจการไม่ต้องนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด ไม่ต้องชำระหนี้ เพราะจะเกิดสภาวะที่เรียกว่า “ออโตเมติก สเตย์ (Automatic Stay-การพักการชำระหนี้โดยผลของกฎหมาย)” หรือเจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกให้มีการแบ่งชำระหนี้