ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ เตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ให้เตรียมพร้อมรับมือกับรอยเลื่อน 9 แห่ง ที่อาจจะขยับ จนกลายเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่รอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งมีความยาวมากที่สุด

จากเหตุยอดฉัตรพระธาตุพระเกิดอายุกว่า 100 ปีที่คดงอ เอียงผิดรูป และร่องรอยแตกร้าวของหลังคา และผนังของพระวิหาร ในวัดพระเกิด จัดเป็นอีกหนึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังเกิดเหตุ แผ่นดินไหวขนาด 4.9 แม็กนิจูดในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

จากนั้นยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกเป็นระลอก รวมกว่า 30 ครั้ง จนทำให้อาคารบ้านเรือน ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบได้รับความเสียหาย

ทีมข่าวช่อง 8 ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ธฤต ธนสิวะวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเจ้าของเวปไซด์ ภัยพิบัติ.com ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในจังหวัดลำปาง เกิดจากรอยเลื่อนพะเยาล่าง ที่พาดผ่านตั้งแต่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ลงมาถึงอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีการขยับตัวในแนวนอน เพื่อปลดปล่อยพลังงาน

ซึ่งกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา แบ่งออกเป็น 2 รอย คือ รอยเลื่อยพะเยาบน และรอยเลื่อนพะเยาล่าง ซึ่งคลอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา และลำปาง รอยเลื่อนกลุ่มนี้เคยขยับตัวมาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2537 ความแรง 5.1 และปี 2557 ความแรง 6.3

และแม้ว่า รอยเลื่อนแต่ละแห่งจะไม่มีอิทธิพลต่อกัน แต่ในพื้นที่ภาคเหนือ ยังมีรอยเลื่อน 9 แห่ง ที่มีพลังพร้อมขยับตัว ซึ่งประชาชนที่อยู่ปลูกบ้านในพื้นที่รอยเลื่อน หรือใกล้เคียง ควรต้องเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อม เพราะเหตุแผ่นดินไหว สามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ โดยไม่มีการส่งสัญญานเตือนก่อนล่วงหน้า

สอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์ภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้คำแนะนำว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำแหน่งรอยเลื่อน ควรตรวจสอบ และปรับปรุงบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ให้ถูกหลักวิศวกรรม ในการรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ซึ่งไม้และเหล็ก คือวัสดุที่เหมาะในการสร้างบ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ยังมีรอยเลื่อนที่มีพลังมีทั้งหมด 15 รอยเลื่อน กระจายอยู่ใน 22 จังหวัด โดยนักวิชาการแนะนำประชาชนที่อาศัยแถบภาคเหนือ ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์แผ่นดินไหวอยู่เสมอ

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนมากที่สุดในประเทศไทย และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ขณะที่แผ่นดินไหวที่จังหวัดลำปางที่เกิดขึ้น ยังคงต้องเฝ้าระวังอีกหลายสัปดาห์

เฝ้าระวังแผ่นดินไหวรอยเลื่อน 9 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ