ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยยอมรับปัญหาเงินทอนวัดอาจสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนกับลูกศิษย์พระที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ ส่วนพระจะมีความผิดหรือไม่ต้องดูที่เจตนาการนำงบประมาณไปใช้ว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวมในพระพุทธศาสนา

จากกรณีเมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา พันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร้องเรียนต่อกองบังคับการป้องกันปราบปราม ถึงคดีทุจริตเงินทอนวัดรอบที่ 3 ในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว พบอีก 3 แห่ง ซึ่งเป็นกรณีกระทำความผิดอาญาคดีทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม เบื้องต้นพบว่าเกี่ยวข้องกับพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ประกอบด้วย พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยาวรวิหาร , พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม , พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร , พระเมธีสุทธิกร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปัจจุบันเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชอุปเสณาภรณ์ และพระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปัจจุบันเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชกิจจาภรณ์

พระธรรมกิตติเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร เจ้าคณะภาค 16-17-18 ในฐานะประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สั้นๆกับสื่อมวลชนในฐานะคนกลางว่า เรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะสร้างความแตกแยกให้กับลูกศิษย์ของพระทั้ง 3 รูปที่ถูกกล่าวหา กับ ประชาชนทั่วไป ส่วนตัวมองว่าปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้และไม่บานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือมีม็อบชุมนุมประท้วง

พระธรรมกิตติเมธี ยอมรับว่ากฎการใช้งบประมาณที่ได้มาจากสำนักพระพุทธศาสนามีช่องโหว่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาของพระว่าจะนำงบประมาณไปใช้ในโครงการใด อาจจะไม่ใช่โครงการที่เขียนขอไปตั้งแต่ต้นก็ได้ แต่ต้องนำเงินมาใช้คืน ถ้าไม่คืนถือว่ามีความบกพร่อง ส่วนแนวทางแก้ไขในอนาคต วัดต่างๆอาจจะไม่ต้องรับเงินจากราชการแล้ว รับแต่เงินบริจาคจากพุทธศาสนิกชนเป็นพอ แต่แนวทางนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อวัดเล็กๆตามต่างจังหวัด ซึ่งแต่ละปีได้รับเงินอุดหนุนกับเงินบริจาคน้อย จนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตามปัญหานี้แม้เป็นเพียงความผิดเล็กๆน้อยๆไม่ใช่โทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต เปรียบเหมือนการทำผิดกฏจราจรไม่ข้ามทางม้าลาย แต่เป็นการเตือนสติไม่ให้กระทำผิดอีก