"นายวิทยา แก้วภราดัย" อดีตแกนนำ กปปส. เชื่อ "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" ตั้งพรรคใหม่ จะไม่เป็นหัวหน้าพรรคเอง และจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่จะสนับสนุนพรรคอยู่เบื้องหลัง ด้าน "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ไม่ห่วง "นายสุเทพ" ตั้งพรรคใหม่จะกระทบกับพรรคประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการกลุ่มกปปส.ว่า เบื้องต้นนายสุเทพได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนแล้วว่า จะมีการจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่จะต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย

ยืนยันว่าไม่กังวลว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสมาชิกพรรคบางส่วนที่ยังศรัทธาในตัวนายสุเทพ เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะตัดสินใจว่า จะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อหรือไม่

แต่ตอนนี้สมาชิกพรรคยังไม่มีบุคคลใดลาออก ซึ่งแนวความคิดของพรรคประชาธิปัตย์ ยังพร้อมสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายสุเทพ อาจมีแนวคิดที่ต่างกัน อาจสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คิดว่า การตั้งพรรคใหม่ของกลุ่มกปปส. จะมีผลกระทบต่อพรรคบางส่วน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ เพราะต้องยอมรับว่าอาจมีสมาชิกบางส่วนที่ไปร่วมงานกับกปปส.แต่คิดว่าอยู่ในสัดส่วนที่รับได้

ซึ่ง ขณะนี้กปปส.และพรรคมีความเห็ นต่าง ตรงที่ กปปส.สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ ขณะที่พรรคยังยืนยันที่จะสนับสนุนนายอภิสิทธิ์

นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่า นายสุเทพคงไม่รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค และคงไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้ง แต่อาจจะแค่สนับสนุนพรรคเท่านั้น

ส่วนตัวคิดว่าการตั้งพรรคการเมืองเป็นเรื่องดี
เพราะภารกิจการปฏิรูปประเทศถือเป็นภารกิจหลักของ กปปส. เพราะการดำเนินการของรัฐบาลชุดนี้ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร ดังนั้นถ้ามีพรรคการเมืองที่เน้นการปฏิรูปร่วมกับรัฐบาลก็จะทำให้อะไรต่างๆ ดีขึ้น

ซึ่งขณะนี้ คิดว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดว่า พรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นจะสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ หรือไม่

ขณะที่นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตนมองว่า ในการตั้งพรรคการเมืองใหม่ นายสุเทพต้องอยู่เบื้องหน้าแม้เคยประกาศว่าไม่เล่นการเมืองก็จริง แต่ในสถานการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกัน

โดยจะเห็นว่านายสุเทพ ให้การสนับสนุนรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์มาโดยตลอด ซึ่งพรรคที่นายสุเทพ ตั้งขึ้น หวังช่วยดึงคะแนนเสียงภาคใต้ และร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่การตั้งพรรค ถือเป็นสิทธิของนายสุเทพ หลังจากนี้เป็นเรื่องของประชาชนว่า จะตัดสินใจอย่างไร

ส่วน "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,185 คน ระหว่างวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์นี้ ในหัวข้อ"พรรคการเมืองใหม่ในสายตาประชาชน

โดยส่วนใหญ่ประชาชนร้อยละ 45.69 มองว่า พรรคการเมืองใหม่ที่นายสุเทพจะตั้งขึ้นถือเป็นทางเลือกและมีประสบการณ์ ร้อยละ 38.28 มองว่า อาจจะกระทบฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 28.23 มองว่า เป็นพรรคที่น่าจับตามอง

แต่ร้อยละ 58.95 ไม่เห็นด้วย หากมีการตั้งพรรคใหม่เพื่อสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ เพราะพรรคการเมืองควรเป็นอิสระ เป็นกลาง ไม่ควรสนับสนุนใคร ที่เป็นการสืบทอดอำนาจ ส่วนร้อยละ 35.37 เห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิที่ทำได้ ทำให้มีพรรคใหม่ๆ ตัวเลือกมากขึ้น และร้อยละ 5.68 รู้สึกเฉยๆ

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันที่ 2 มีนาคมนี้ จะส่งตัวแทน 3 คน ไปยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยจะใช้ชื่อพรรคว่า"พรรคประชาชนปฏิรูป"

หลังจากยื่นขอจองชื่อพรรคต่อนายทะเบียนเสร็จแล้ว จะทำหนังสือถึงคสช.เพื่อขอจัดประชุมผู้ร่วมก่อตั้งพรรค จากนั้นจึงจะเรียกประชุมผู้ร่วมอุดมการณ์ในการก่อตั้งพรรคในช่วงปลายเดือนมี.ค. และเมื่อหัวหน้าคสช.มีคำสั่งปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้ก็จะมีการรับรองข้อบังคับพรรค และส่งเรื่องตั้งพรรคในช่วงเดือนเม.ย. คาดว่าจะสามารถตั้งพรรคได้ในเดือนพ.ค

อดีตแกนนำกปปส. เชื่อ "สุเทพ" ไม่นั่งหัวหน้าพรรคตั้งใหม่