3 พรรคใหญ่ ทั้งเพื่อไทย - ประชาธิปัตย์ - ชาติไทยพัฒนา รุมวิจารณ์ คำสั่งมาตรา 44 แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ระบุ รัฐบาลจงใจเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรค ทำลายฐานพรรคเก่าอ่อนแอ เอื้อประโยชน์ให้พรรคใหม่

ภายหลัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ลงนามประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 แก้ไขกฎหมายลูกพรรคการเมือง พร้อมกำหนดเงื่อนไขหลายข้อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมบางอย่างได้ตามกฎหมายนั้น ทำให้พรรคการเมือง ออกมาแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย

เริ่มที่ พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่ตั้งข้อสังเกตว่า การเขียนเงื่อนไขให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรค ต้องกลับมายืนยันตัวตนพร้อมยื่นหลักฐาน และเสียค่าบำรุงสมาชิกพรรคภายในกรอบเวลา 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561

และในทางปฏิบัติหากไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขตามกรอบเวลาที่กำหนดจะส่งผลให้ผู้นั้นสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคทันที ความหมายนี้ไม่ต่างกับการให้สมัครสมาชิกพรรคใหม่เป็นเรื่องยากมาก เหมือนเป็นการเซตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า การออกคำสั่งครั้งนี้คือการเซตซีโร่พรรคการเมือง ไม่ใช่การปลดล็อก เพราะหัวใจของพรรคการเมืองคือสมาชิก

ดังนั้รการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้สมาชิกต้องสมัครใหม่เท่ากับเป็นการล้างสมาชิกเก่า และขอเตือนขณะนี้ คสช.กำลังสร้างความยุ่งยากให้ประชาชนในการมีส่วนร่วมปฏิรูปการเมือง

ขณะที่ฝากของพรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การใช้อำนาจมาตรา 44 ปลดล็อกให้พรรคการเมืองเริ่มทำธุรการทางการเมืองได้ เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาล คสช. ควรทำคือปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ทันที โดยไม่มีข้อจำกัดเพราะพรรคการเมืองถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง มากว่า 3 ปีแล้ว เพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมนโยบาย ลงพื้นที่ รับฟังความเห็นจากประชาชน

ขณะเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมานี้ ไม่ถึงกับรีเซตโดยตรง แต่ถ้าสมาชิกพรรคไม่ยืนยันความเป็นสมาชิกภายใน 30 วัน และจ่ายค่าสมาชิกตามที่คำสั่งมาตรา 44 กำหนด ก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคในทันที ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพรรคที่มีสมาชิกมาก ๆ ทั้งประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย เนื่องจากเวลาที่กำหนดไว้ 30 วันสั้นเกินไป เพราะสมาชิกจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วประเทศอาจไม่ทราบข้อมูล อีกทั้งการจะให้พรรคการ เมืองติดต่อสมาชิกในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจดำเนินการไม่ทันและทำให้จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง ต่าง ๆ ลดน้อยลงได้

เช่นเดียวกับนายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การใช้อำนาจมาตรา 44 เปิดช่องให้พรรคการเมืองใหม่หาสมาชิกได้ ขณะที่พรรคเก่าไม่มีโอกาสทำกิจกรรมเต็มที่เพราะผู้มีอำนาจต้องการหาผู้สนับสนุนในอนาคต

และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ปัญหาอย่างพร่ำเพรื่อเหมือนเด็กเล่นขายของ ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

แต่ในเมื่อผู้มีอำนาจสร้างกติกาเช่นนี้ นักการเมืองพร้อมสู้ทุกรูปแบบ การเอาเปรียบทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของผู้มีอำนาจ หากเอาเปรียบมากก็ถือว่าน่าเกลียด

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งมาตรา 44 ไม่ได้ถือว่าเป็นการปลดล็อค แต่เป็นเพียงคำสั่งเพื่อการขยายเวลา ทั้งๆที่ไม่ใช่เป็นความผิดของทั้งพรรคการเมือง และเปรียบเหมือนการลักลั่นระหว่างพรรคใหม่และพรรคเก่า โดยอ้างเหตุผลเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง

ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อระบบไพรมารีโหวตแ ละการหาเสียงเลือกตั้งในที่สุดเพราะระยะเวลากระชั้นชิดมากเกินไป และอยากเห็นรัฐบาล คสช.ดำเนินทุกอย่างให้เป็นไปตามโรดแมปให้ได้

นายไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูป กล่าวว่า คำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมาเป็นประเด็นที่รับได้ เพราะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สองมาตรฐานของสมาชิกพรรคการเมือง

และหาก คสช. ปลดล็อคให้กับพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ใน ช่วงปลายเมษายน 2561 ก็ถือว่ายังทันเวลากับการเตรียมยื่นรายการ เพื่อยืนยันการจัดตั้งพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรับธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า คำสั่งมาตรา 44 ที่ ขยายเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม ตามกฎหมายลูกพรรคการเมือง ว่า ส่วนตัวไม่ได้มีส่วนในการร่างคำสั่งนี้ แต่มองว่า การขยายให้พรรคการเมืองเก่า และพรรคการเมืองใหม่ดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ห่างกันเพียง 1 เดือน จะไม่ได้เปรียบเสียเปรียบมาก

และไม่ได้เป็นการเซตซีโร่สมาชิกพรรคเหมือนที่ฝ่ายการเมืองมอง เพียงแต่ให้มายืนยันว่ามีสมาชิกอยู่จริง และเป็นการยืนยันตัวตนที่มีอยู่แน่นอน ซึ่งพรรคการเมืองเก่าจะได้เปรียบพรรคการเมืองใหม่ เพราะสามารถตามตัวสมาชิกได้ง่ายกว่า

พรรคการเมือง รุมสับ ม.44 แก้ กม.พรรคฯ ซ่อนรีเซตสมาชิกการเมือง