"กรุงเทพโพลล์" เผยผลสำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่ สนับสนุนให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกันทุกระดับ และ เชื่อว่าจัดเลือกตั้งทำให้บรรยากาศการเมืองดีขึ้น

 

"กรุงเทพโพลล์" เผยชาวบ้านหนุนเลือกตั้งท้องถิ่น เชื่อบรรยากาศการเมืองดีขึ้น

กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง คิดเห็นอย่างไร เรื่องการปลดล็อคเตรียมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาค1,184 คน

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นควรจัดในรูปแบบใด พบว่า ร้อยละ 53.9 ควรจัดเลือกตั้งท้องถิ่นให้พร้อมกันทุกระดับทั่วประเทศ ร้อยละ 33.2 ควรจัดเลือกตั้งท้องถิ่นเฉพาะในส่วนที่หมดวาระ ว่างอยู่ก่อนที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ และ ร้อยละ 12.9 ควรจัดเลือกตั้งท้องถิ่นในบางระดับก่อนเฉพาะเขตปกครองพิเศษ เช่น ผู้ว่าราชการกทม. และเมืองพัทยาหรือเฉพาะ อบจ.

เมื่อถามความเห็นต่อการปลดล็อคโดยรัฐบาล คสช. อาจพิจารณาให้จัดเลือกตั้งท้องถิ่นในบางระดับหรือเฉพาะพื้นที่ก่อน ร้อยละ 40 เพื่อทดสอบระบบและความพร้อมการจัดการเลือกตั้งหลังจากว่างเว้นไปนาน ร้อยละ 35.6 เพื่อทดสอบ นำร่องการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ร้อยละ 35.6 เพื่อทดแทนตำแหน่งผู้นำระดับท้องถิ่นเดิมที่หมดวาระไป ร้อยละ 30 เพื่อดูคะแนนนิยมของพรรคการเมืองในระดับท้องถิ่นเพื่อวัดกระแสความนิยม การเมืองในระดับชาติ และ ร้อยละ 27.8 เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง

เมื่อถามถึงการปลดล็อคทางการเมืองเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นจะส่งผลอย่างไรต่อบ้านเมือง ร้อยละ 48.1 จะได้ผู้นำท้องถิ่นที่ดีมีคุณสมบัติตรงตามรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 16.6 จะได้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาบริหารท้องถิ่นเหมือนเดิม

ร้อยละ 15.7 จะกลับไปสู่การซื้อสิทธิขายเสียงเหมือนเดิม ร้อยละ 13.6 ทำให้มีบรรยากาศการหาเสียงคึกคัก การเลือกตั้งคึกคัก และ ร้อยละ 6 ทำให้มีการชุมนุมทางการเมืองได้เกิน 5 คนโดยไม่ผิดกฎหมาย

และเมื่อถามว่า การจัดให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะทำให้บรรยากาศทางการเมืองไปในทิศทางใด ร้อยละ 63 น่าจะดีขึ้น ร้อยละ 32.5 น่าจะเหมือนเดิม และ ร้อยละ 4.5 น่าจะแย่ลง

 

"สมชัย" คาดเลือกท้องถิ่น เกิดหลัง เลือกตั้ง ส.ส.

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งส.ส.เนื่องจากจะต้องมีการ แก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับ  แต่การคาดการณ์ของตนเองอาจจะไม่จริงก็ได้ เพราะเป็นการคาดการณ์โดยดูจากคิวของการพิจารณากฎหมายของสนช. ที่จะต้องพิจารณา กฎหมายลูก ส.ส. และ ส.ว. ในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และสน๙งต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด

เท่ากับว่ากฎหมายท้องถิ่น อาจต้องเสนอประมาณต้นปีหน้า เมื่อเสนอเข้าต้นปีหน้า คิวของการที่จะแก้ไขกฎหมายให้เสร็จ ก็ต้องเกิดขึ้นหลังกฎหมายเลือกตั้งส.ส.และกฎหมายส.ว.แน่นอน และถ้ากฎหมายเลือกตั้งส.ส.และส.ว. ประกาศราชกิจจานุเบกษาก็จะเริ่มนับหนึ่งการเลือกตั้งทันที ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าด้วยเหตุของข้อจำกัดในการแก้ไขกฎหมาย การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งส.ส. แต่ขึ้นอยู่กับสนช.ว่าจะพิจารณาได้เร็วหรือไม่

 

"หมอเหวง" เชื่อ คสช.ปลดล็อกอปท.เช็กเสียงสืบทอดอำนาจ

ขณะที่นายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวถึงการเตรียมแก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่ คสช.ต้องการอยู่ในอำนาจต่อ และหวังเช็คความนิยมของพรรคเพื่อไทย(พท.) และกลุ่มคนเสื้อแดงว่าลดลงหรือยังมีอยู่มากน้อยแค่ไหน จึงต้องโยนหินถามทางเพื่อที่จะยืดเวลาของตัวเองออกไปเรื่อยๆ

ดังนั้นการเรียกร้องเพื่อให้มีการปลดล็อกในระดับชาติ ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้นั้น ส่วนตัวมองว่าต้องรอไปก่อนหรืออาจเป็นช่วงเวลาที่จวนเจียนกับการเลือกตั้งก็เป็นได้

 

"องอาจ" เชื่อ คสช.-นายกฯ เข้าใจปัญหา กำลังหาทางปลดล็อกการเมือง

ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้ คสช.พิจารณา คำชี้แจงของ กกต.ที่ตอบกลับพรรคการเมืองมาว่าไม่สามารถทำกิจกรรมได้เพราะติดคำสั่ง คสช. ซึ่งจะเห็นว่า คำสั่งของ คสช.ยังเป็นอุปสรรค ที่จะปฏิบัติบัติตามกฎหมายพรรคการเมือง

ทั้งนี้ส่วนตัวยังมีความเชื่อมั่นว่า คสช.และนายกรัฐมนตรี เข้าใจปัญหาต้องหาทางคลี่คลายเพื่อให้พรรคการเมืองทำงานได้สอดคล้องกับระยะเวลาในกฎหมายพรรคการเมือง เพราะระยะเวลาที่บัญญัติไว้ กฎหมาย ก็เป็นประเด็นที่ควรพิจาณา แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้สามารถขยายเวลาได้ ซึ่งต้องดูระเบียบของ กกต.ว่าจะออกมาอย่างไรในเรื่องนี้

"กรุงเทพโพลล์" เผยชาวบ้านหนุนเลือกตั้งท้องถิ่น เชื่อบรรยากาศการเมืองดีขึ้น