โพลชี้ประชาชน 65% รู้ว่าวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ และ คำว่า "ลำไย-ตะมุตะมิ-นก" ยังติดโผ 3 อันดับแรก ของคำศัพท์ฮิตในวัยรุ่นปี 2560 ด้วย

เนื่องในวัน 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ทางกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็น เยาวชนและประชาชน ในหัวข้อ "วันภาษาไทยแห่งชาติ" จากกลุ่มตัวอย่าง3,306คน ทั่วประเทศพบว่า

ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.43 ทราบว่า วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ส่วนคำถามว่า "ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านภาษาไทยที่นึกถึงมากที่สุด" ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 83.45 ตอบว่า สุนทรภู่ ร้อยละ 41.16 ตอบว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ ร้อยละ 39.38 ตอบว่า นายกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือ ครูลิลลี่

ส่วนปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน และเรื่องเร่งด่วนที่ควรแก้ไขปัญหา ร้อยละ 39.02 ระบุว่าเป็น "การพูด" เพราะเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงควรมีการพูดที่ถูกต้องจะเป็นแบบอย่างที่ดี

ร้อยละ 37.17 ระบุว่า "การเขียน" เนื่องจากปัจจุบันใช้คอมพิวเตอร์แทนการเขียนหนังสือมากขึ้น จึงอยากให้คนไทยได้เขียนหนังสือที่ถูกต้อง

และร้อยละ 23.81 คือ "การอ่าน" เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็ก ทำให้รอบรู้ทันโลกทันเหตุการณ์ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาสติปัญญา

ส่วนคำถามเรื่องคำศัพท์ยอดฮิตของวัยรุ่นในยุคปัจจุบันนั้น พบว่า ร้อยละ 39.44 คือคำว่า "ลำไย" ซึ่งหมายถึง รำคาญ ร้อยละ3 6.86 คือคำว่า "ตะมุตะมิ" หมายถึง น่ารักน่าเอ็นดู ร้อยละ 36.23 คือคำว่า "นก" หมายถึง อ่อยเขา แต่เขาไม่เอา

ซึ่งจากผลสำรวจครั้งนี้ ส่งผลให้หลายฝ่ายมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงวัฒนธรรม และ ทุกภาคส่วน ถึงแนวทางกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งควรมีการประกวดการใช้ภาษาไทย หรือทดสอบการใช้ภาษาไทยดีเด่น

เช่น การเขียนเรียงความคัดไทย แต่งกลอน เกมการแข่งขันเกี่ยวกับภาษาไทยทุกปี มีรางวัลเป็นสิ่งดึงดูดและจัดให้มีวิชาการอ่านในหลักสูตร และเพิ่มเวลาการอ่านหนังสือในคาบเรียน เพื่อทำให้เด็กได้มีโอกาสอ่านและเขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้องด้วย

โพลชี้ "ลำไย-ตะมุตะมิ-นก" เป็นคำฮิตติดปากวัยรุ่นปี 60