"นายคำนูณ สิทธิสมาน" ชี้สนช.ผ่านร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ทำให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ยอมรับส่งผลให้คดีของ"นายทักษิณ ชินวัตร"อีก 4 คดี ที่ศาลจำหน่ายไว้ชั่วคราวทั้งหมดเดินหน้าต่อไป

วานนี้ (14ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเปิดช่องให้ศาลไต่สวนลับหลังจำเลยได้

โดยระบุว่า ถือเป็นการปฏิวัติใหญ่คดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะมีผลสะเทือนต่อการเมืองไทยใหญ่หลวง แม้ว่า คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะอุทธรณ์ได้ในทุกกรณี แตกต่างจากเมื่อก่อนที่จำกัดให้อุทธรณ์ได้เฉพาะเมื่อมีข้อเท็จจริงใหม่เท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามกติกาสากล

การเปลี่ยนแปลงระดับปฏิวัติโดยสรุป มี 5 ข้อ คือ 1.แม้ไม่สามารถนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาล ก็ให้ศาลประทับรับฟ้องได้ 2.หากศาลออกหมายจับ หากยังจับผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ภายใน 3 เดือน ก็ให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังได้

3.หากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไประหว่างพิจารณาคดีก็ไม่ให้นับระยะเวลาที่หนีไปรวมอยู่ในอายุความ 4.เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว ผู้ต้องหาหลบหนีไปไม่ว่า นานเท่าใด ก็ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นโทษจำคุกนั้นในอนาคต และ 5.คดีที่ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เพราะไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหา ให้ดำเนินการกระบวนพิจารณาต่อไปตามกฎหมายใหม่ทั้งหมด

ซึ่งกฎหมายใหม่นี้ กระทบต่อคดีของอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง(นายทักษิณ ชินวัตร) ที่แม้จะไม่กลับประเทศไทย แต่ต้องถูกพิจารณาคดีในคดีที่ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวประมาณ 4 คดี ส่วนคดีเก่า(คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก) ที่ศาลพิพากษาให้จำคุกอดีตนายกรัฐมนตรีคนนั้น 2 ปี ไม่ว่า อดีตนายกฯจะไม่กลับประเทศอีกนานเท่าใด ก็ต้องได้รับโทษนั้นตามกฎหมายใหม่

ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี หรือ อดีตรัฐมนตรีคนอื่นที่กำลังอยู่ในกระบวนพิจารณาคดี หรือถูกฟ้องคดีใหม่ หรือถูกพิพากษาจำคุกไปแล้วหลบหนีไป หากจะคิดหนีต่อไปก็ไร้ประโยชน์ ยกเว้นหนีตลอดชีวิต

รองอสส.ชี้กฎหมายใหม่ช่วยเดินหน้าคดีนักการเมืองทุจริต

ด้านนายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้คดีความเดินไปได้ ไม่ติดขัด ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงว่า วิธีการดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักสากลนั้น ตนเห็นว่า ในต่างประเทศก็มีวิธีการดังกล่าว เพราะการพิจารณาลับหลังยังให้โอกาสจำเลยในการต่อสู้คดีตามขั้นตอน

จุดประสงค์ใหญ่ที่ทำให้มีร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะนักการเมืองสร้างผลกระทบต่อสังคมมาก ส่วนมากจะเป็นคดีใหญ่ ๆ ที่สำคัญนักการเมืองมาเร็วไปเร็ว โจทย์ใหญ่จึงต้องการให้ตัดสินคดีให้เร็ว แตกต่างกับเอกชนและข้าราชการที่ทุจริตเพียงเล็กน้อย จึงให้ดำเนินการไปตามระบบได้

ซึ่งวิธีพิจารณาคดีตามกฎหมายฉบับนี้ ทำให้มีผลทันที และมีผลไปถึงคดีที่เกิดก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ด้วย ส่วนที่ระบุว่าไม่มีผลย้อนหลังนั้นคือ บทบัญญัติเกี่ยวกับโทษทางอาญา แต่ไม่ใช่ว่า กฎหมายนี้จะเจาะจงใครคนใดคนหนึ่ง เพราะเป็นกฎหมายที่จะต้องใช้ต่อไปในอนาคต

"พล.อ.ประวิตร"ปัดตอบกฎหมายอาญา หวังเล่นงาน"ทักษิณ"

ขณะที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวส่งผลต่อคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดในข้อกฎหมายดังกล่าว ส่วนจะเป็นการปิดบัญชีนายทักษิณ หรือไม่นั้น ขอให้ไปถาม สนช. และอย่าเพิ่งคิดไปไกลว่า กฎหมายดังกล่าวจะสร้างความขัดแย้งในอนาคต

"องอาจ"หนุนไต่สวนลับหลังนักการเมืองทุจริต

ส่วนความเห็นจากฝ่ายการเมือง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีทุจริตนักการเมืองที่ผ่านมา พิจารณาเหมือนคดีอาญาโดยทั่วไป ทำให้มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการนำนักการเมืองมาลงโทษ เพราะคดีนักการเมืองส่วนมากเป็นคดีที่ได้วางแผนให้ตัวเองพ้นผิดด้วยวิธีการต่าง ๆไว้แล้ว หรือ ใช้อำนาจเงินหลบคดีไปจนกว่าจะหมดอายุความ

หากใช้กฎหมายอาญาปกติโดยทั่วไป คงไม่สามารถเอาผิดนักการเมืองที่มีอิทธิพลได้ ดังนั้นการออกกฎหมายเพื่อจะพิจารณาคดีทุจริตของนักการเมืองลับหลัง จึงไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ์ หรือผิดหลักสากล เพราะจำเลยสามารถแต่งตั้งทนายความมารักษาสิทธิของตัวเองได้ ซึ่งส่วนตัวตนเห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่น่ามีอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

"วิรัตน์"ชี้นักการเมืองโกงต้องไม่หนีคดีเพื่อรักษาสิทธิ์ต่อสู้

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกคนไม่ว่าจะชื่ออะไร ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่า จะต้องเป็นนัการเมืองชื่อไหน และกฎหมายนี้ไม่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไป เพราะบุคคลทั่วไปยังใช้กฎหมายทั่วไปเช่นเดิมอยู่ 6+ การกำหนดให้คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่มีอายุความ ถือเป็นสิ่งที่นักการเมืองเรียกร้องมาหลายปีแล้ว ส่วนการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยนั้น ปกติใช้สำหรับคดีอาญาทั่วไปที่โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เป็นเรื่องที่ศาลอนุญาตให้พิจารณาลับหลังได้อยู่แล้ว ดังนั้นนักการเมืองทุกคนจึงต้องคำนึงว่า ต้องไม่ทุจริต หรือ หากถูกดำเนินคดีแล้วก็ต้องอยู่สู้คดี เพื่อรักษาสิทธิ อย่าหลบหนีคดี

สปท.ชี้กฎหมายอาญานักการเมือง ส่งผลกระทบคดี "ทักษิณ" รวม 5 คดี