นายกฯประกาศใช้ มาตรา 44 เพื่อปลดปัญหาการสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา โดยให้ยกเว้นการปฎิบัติตามกฎระเบียบพัสดุ เพื่อเปิดทางให้ ร.ฟ.ท. ทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเข้ามาดำเนินโครงการ

ช่วงดึกวานนี้ (15 มิ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา โดยหัวหน้าคสช.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา เพื่อประโยชน์ ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้ มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ให้ร.ฟ.ท.ใช้ผลการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง และผลประชุมของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน มาเป็นกรอบ ในการพิจารณา โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

เมื่อรฟท.จัดทำร่างสัญญาจ้างเสร็จแล้ว ให้ส่งข้อตกลงการจ้างและร่างสัญญาจ้างให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เจ้าสังกัดพิจารณา เห็นชอบก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ร่างสัญญาจ้างให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดนำเสนอครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

สำหรับปัญหาที่ส่งผลให้ไม่สามารถเร่งรัดดำเนินโครงการความร่วมมือรถไฟไทยจีน หรือรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาได้ตามแผนงานที่กำหนด จนต้องใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกนั้น เป็นการแก้ปัญหา เรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการของประเทศไทย

เพราะที่ผ่านมาไทยจะไม่ยกโครงการให้ประเทศใดเข้ามาดำเนินการ โดยไม่ต้องมีการเปิดประกวดราคา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 ดำเนินการ เพื่อไม่ให้ขัดกับระเบียบพัสดุ ระเบียบราคากลาง รวมถึงกฎระเบียบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมของทางสภาวิศวกร และสภาสถาปนิกด้วย

ซึ่งก่อนจะลงนามในสัญญาก่อสร้างต้องนำเสนอ ครม.อีกครั้ง ก่อนจะลงมือก่อสร้างจริง และต้นเดือนกรกฎาคมนี้ กระทรวงคมนาคมจะต้องเดินทางไปประเทศจีน เพื่อประชุมความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 19 ด้วย