คณะกรรมาธิการสื่อฯ ระบุใช้เวลา 30 วัน ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อฯ เตรียมปรับแก้ใบอนุญาตขึ้นทะเบียนสื่อ เป็นใบรับรองประกอบวิชาชีพแทน โดยให้ต้นสังกัดเป็นผู้ออกให้ ขณะที่องค์กรสื่อ 30 องค์กร ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อที่สปท.เห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นำผู้บริหารกระทรวง กรมการศาสนา และองค์กรเครือข่ายทางศาสนา เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี 2560 และงานสัปดาห์ส่ง เสริมพระพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ 4-10 พฤษภาคม โดยนายกฯ กล่าวเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญ ตักบาตร สวดมนต์ ทำบุญไหว้พระทั่วประเทศ ซึ่งวันที่ 10 พฤษภาคม กทม.ได้จัดพิธีทำบุญเนื่องในวันวิสาขบูชา ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินในวันดังกล่าวด้วย จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมรับเสด็จฯ นายกฯยังได้เขียนข้อความลงบนบัตรอวยพรวันวิสาขบูชา ระบุว่า "ขอให้คนไทยทุกคนให้ความสำคัญกับวันสำคัญของศาสนา และนำสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม จิตใจบริสุทธิ์ สังคมปลอดภัย ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน"

30องค์กรสื่อยื่นนายกฯ คัดค้านร่างพ.ร.บ.คุมสื่อ

ขณะเดียวกัน นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ เพื่อมอบเสื้อที่ระลึกเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พร้อมยื่นหนังสือเปิดผนึกขององค์กรวิชาชีพสื่อ 30 องค์กร เรื่อง"คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน"ของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ผ่านความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยนายกฯ ระบุว่า ยินดีรับฟังข้อเสนอ และการหารือร่วมกัน แต่พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังมีอีกหลายขั้นตอนในการพิจารณากฎหมาย พร้อมรับปากว่า จะดูในส่วนเนื้อหาที่เป็นปัญหาให้ และจะนำเข้าไปหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้คิดจะไปครอบงำสื่อทั้งหมด แต่สื่อจะต้องควบคุมกันเองให้ได้

นายกฯมอบ"วิษณุ"หารือรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.คุมสื่อ

หลังการประชุมครม. พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อฯ อีกครั้งว่า หลังจากได้รับหนังสือจากตัวแทนสื่อแล้ว ตนได้ให้แนวทางแก้ไขปัญหากับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และกฤษฎีกา ในการหารือรับฟังความคิดเห็น เพราะเรื่องนี้กำลังเดินทางมาถึงขั้นตอนของรัฐบาลแล้ว แต่ก็ยังมีขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 3 วาระ จึงไม่อยากให้ทุกคนมาทะเลาะเบาะแว้งกัน ขัดแย้งกันในเวลานี้ ดังนั้น จะต้องพูดคุยกันรับฟังทั้งสองด้านเพื่อหาทางออกกันให้ได้ ในช่วงท้ายหลังการแถลงข่าวเสร็จ พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวยืนยันว่า จะดูแลเรื่อง พ.ร.บ.สื่อให้ แต่เมื่อ พลเอกประยุทธ์ เห็นว่า ในการแถลงข่าวครั้่งนี้มีจำนวนผู้สื่อข่าวไม่มากนัก จึงได้แซวว่า "สื่อทำไมเหลือน้อย นึกว่าสื่อประท้วงกันหมดเสียแล้ว"

มติสปท.154 เสียงเห็นชอบรายงานปฏิรูปสื่อ

ขณะเดียวกัน วานนี้ (2พ.ค.) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมสปท. เพื่อพิจารณารับทราบ ผลการศึกษา และข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ของคณะกรรมาธิการฯ ด้านสื่อสารมวลชน ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.การควบคุมสื่อฯ และ ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ โดย พลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า จากการศึกษาพบว่า สื่อหลัก ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ สร้างผลกระทบต่อจิตใจประชาชน ถ้าไม่กำกับดูแล อาจเกิดการล่วงละเมิดสิทธิ ถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สินได้ หากยังปล่อยไว้ จะกระทบต่อความมั่นคงชาติ จึงต้องปฏิรูปปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก โดยอบรมต่อเนื่องให้ตระหนักรู้ภัยการเสพสื่อ ต้องกำหนดยุทธศาสตร์การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่การให้ภาครัฐเข้าไปกำกับอย่างเดียว แต่มีหลักการให้สื่อควบคุมกันเองเอาไว้ด้วย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง

กมธ.สื่อฯ แจง 30 วันปรับปรุงพ.ร.บ.คุมสื่อเสร็จ ก่อนส่งให้ครม.

พลอากาศเอกคณิต กล่าวว่า หลังจาก สปท.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสื่อมวลชนแล้ว ทางคณะกรรมาธิการจะนำข้อเสนอแนะและข้อท้วงติงของสมาชิก สปท.ไปปรับปรุงแก้ไข ให้เป็นไปตามข้อสังเกตให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน จะเริ่มพิจารณาในสัปดาห์หน้า ประเด็นหลัก ที่ต้องปรับแก้ คือ การเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นใบรับรองประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแทน โดยให้ต้นสังกัดเป็นผู้ออกให้ ส่วนข้อเสนอของตนที่ให้เขียนบทเฉพาะกาลกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ 2 ตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเพียง 5 ปีนั้น ยังตอบไม่ได้ว่า จะแก้ไขหรือไม่ เพราะเป็นความเห็นส่วนตัวที่เสนอต่อที่ประชุม และยังไม่ใช่มติของคณะกรรมาธิการทั้งนี้ หลังปรับปรุงเสร็จจะส่งให้ ครม.ดำเนินการต่อไป

"วิษณุ"แจงรัฐบาลยังไม่มีความเห็น ปมร่างพ.ร.บ.คุมสื่อ

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่มีความเห็นในเรื่องพ.ร.บ.คุมสื่อ และยังไม่รู้ว่ารัฐบาลมีจุดยืนอย่างไร เพราะยังไม่เห็นตัวร่างดังกล่าว และไม่ขัดข้องหากตัวแทนสื่อจะขอพูดคุยในเรื่องดังกล่าว โดยยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะไม่เห็นด้วยกับสปท. และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข ซึ่งขั้นแรก ต้องดูว่า การร่างกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าขัดก็ไปต่อไม่ได้ แต่ถ้าไม่ขัดก็สามารถไปต่อได้ จึงต้องดูความเหมาะสมด้วย

นายกฯมอบ "วิษณุ" ดู พ.ร.บ.คุมสื่อฯ สั่งหารือฟังความเห็น