สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เห็นชอบถอนรายงาน สปท.ด้านสังคม เรื่องวิธีปฏิรูประบบสาธารณสุข กรณีออกกฎหมายนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข โดยกรรมาธิการจะกลับไปแก้ไข ก่อนเสนอชงใหม่ใน 30 วัน

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เห็นชอบร่วมกันให้ถอนรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เรื่องการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข และร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ

ได้แก่ 1. ร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข 2.ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 3. ร่างพระราชบัญญัติ ประกันสังคม

การถอนรายงานฉบับดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีที่สมาชิก สปท.จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะการตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ที่นำเงินส่วนหนึ่งมาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลจำนวนมาก มีปัญหาเรื่องสถานะทางการเงิน ซึ่งจำเป็นต้องนำเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาช่วยอุ้มสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลด้วย

อีกทั้งยังมีข้อสงสัยว่า เมื่อนำเงินของกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ไปจ่ายให้กับผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์แล้ว จะมีการฟ้องร้องแพทย์และพยาบาลโดยตรง เพื่อเรียกค่าเสียหายได้อีกหรือไม่

ขณะที่กรรมาธิการ ยืนยันว่าข้อเสนอของคณะ กมธ. มาจากการแสดงความคิดเห็น ของตัวแทนสภาวิชาชีพอย่างหลากหลาย จึงไม่ได้เป็นการคิดขึ้นเองแต่อย่างใด

แต่สมาชิก สปท.ท้วงติงว่า กระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ ควรทำอย่างรอบด้าน โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาให้ข้อมูล และจัดประชุมอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่เชิญตัวแทนมาพบ คณะกรรมาธิการเท่านั้น จึงเห็นว่า คณะกรรมาธิการควรถอนรายงานออกไป เพื่อไปทบทวนใหม่

ต่อมาที่ประชุม สปท.ลงมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว 48 เสียง ไม่เห็นด้วย 26 เสียง และงดออกเสียง 77 เสียง ผลมติที่ออกมาทำให้สมาชิก สปท.เสนอให้รองประธาน สปท.ตีความว่าในกรณีที่มีคะแนนงดออกเสียงมากกว่าคะแนนเห็นด้วย จะถือว่า สปท.มีมติในเรื่องนี้อย่างไร

แต่กรรมาธิการ เห็นว่าไม่ต้องลงมติใหม่ เพราะในเมื่อคะแนนเสียงเห็นด้วยมีมากกว่าคะแนนไม่เห็นด้วย ต้องถือว่าที่ประชุม สปท.ได้เห็นด้วยกับรายงานของกรรมาธิการแล้ว จนกระทั่งในที่สุดคณะกรรมาธิการ ยอมถอนรายงานดังกล่าวไปปรับปรุงตามข้อเสนอของสมาชิก สปท.และนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมใหม่ ภายใน 30 วัน