ประธาน กกต. ปัดมีใบสั่ง ยื่นศาล รธน. ยุบก้าวไกล ชี้หลักฐานสำคัญคือ คำวินิจฉัยศาล ยันโทษสูงสุดยุบพรรค ตัดสิทธิไม่เกิน 10 ปี รอดูผิดกฎหมายอื่นหรือไม่ ส่วนคดียุบพรรคภูมิใจไทยอยู่ระหว่างนายทะเบียนรวบรวมหลักฐาน

วันที่ 13 ก.พ. 2567 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปิดเผยถึงกรณีที่ กกต. เห็นควรส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล จากกรณีใช้สิทธิเสรีภาพอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่ากระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ ที่ประชุม กกต. ได้ให้สำนักงาน กกต.ศึกษาวิเคราะห์ตั้งแต่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 มกราคม ซึ่งเป็นการศึกษาพิจารณาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด จนกระทั่งถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ โดยใช้เวลาในการพิจารณาเพิ่มเติม และข้อเสนอแนะ จนเป็นที่มาของผลการประชุม กกต. เมื่อวานนี้

ส่วนจะสามารถยืนยันกรอบระยะเวลาได้หรือไม่ หลังพรรคก้าวไกลตั้งคำถามว่า เร็วเกินไปที่จะตัดสิน นายอิทธิพร ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการโดยใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 92 ซึ่งใช้คำว่า เมื่อคณะกรรมการ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อว่า มีพรรคใดกระทำการอันควรจะเป็นการล้มล้างการปกครอง ให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่ง กกต.มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ ก็ใช้เวลาพอสมควร สิ่งที่เป็นหลักฐานอันเชื่อได้ก็คือคำวินิจฉัยของศาล มีรายละเอียด ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน มีเอกสารประกอบ มีคำไต่สวน มีถ้อยคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นจึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เมื่อ กกต. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกล โดยทั่วไปจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ในการจัดทำคำร้องเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสร็จเมื่อไหร่เราก็ยื่นเมื่อนั้น



นายอิทธิพร ยังกล่าวถึงข้อครหาทางโซเชียลว่า กกต. มีใบสั่ง ขอชี้แจงว่า ที่ทำงานมาก็ทำตามกฎหมาย คนที่จะสั่งให้เราปฏิบัติหน้าที่ คือ กฎหมายที่เขียนเอาไว้ หากมองตามรัฐธรรมนูญ ก็คือ เราเป็นองค์กรอิสระหนึ่งที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพราะฉะนั้นหากไม่ทำตามกฎหมาย ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่

ส่วนหลังจากนี้จะมีคิวพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ ประธานกกต. กล่าวว่า ไม่อยากเรียกว่าเป็นคิว หากมีการเสนอเรื่อง และพิจารณาว่าพรรคการเมืองหรือผู้บริหารพรรคการเมืองใด กระทำการอันอาจจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การต้องยื่นศาลที่เกี่ยวข้อง เราก็ดำเนินการตามนั้น ไม่ได้มีเฉพาะเจาะจงอะไร

ส่วนกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ระบุว่าโทษของการยุบพรรคก้าวไกล อาจร้ายแรงถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ประธาน กกต.กล่าวว่า ตามมาตรา 92 แล้ว หาก กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค กกต.สามารถยื่นให้ศาลพิจารณาเพิกถอนสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ โดยตามกฎหมายแล้วศาลจะสั่งห้ามตั้งพรรคใหม่ ห้ามเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่น ซึ่งตามกฎหมายศาลจะสั่งห้ามไม่ให้เกิน 10 ปี นั่นเป็นโทษสูงสุด ส่วน กกต. จะดำเนินคดีอาญากับพรรคก้าวไกลด้วยหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายอื่นด้วยหรือไม่

ส่วนความคืบคดียุบพรรคภูมิใจไทย กรณีรับเงินบริจาค บริษัท บุรีเจริญ คอนตรัคชั่น นั้น ประธาน กกต.กล่าวว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบของเท็จจริงและรวบรวบพยานหลักฐานของเลขาฯ กกต. ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่ถึงขั้นที่จะสรุปความเห็นและนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.