จากกรณีลูกทรพีหรือนายวรุตย์ ผู้ก่อเหตุ จับตัวพ่อและน้องสาว ยัดใส่หีบเหล็ก ก่อนใช้โซ่พันธนาการ ล็อกกุญแจแน่นหนา ถ่วงสระน้ำหมู่บ้าน ต.พังโคน อ.เมือง จ.สกลนคร เสียชีวิต 2 ศพ โดยขณะนี้ตำรวจได้ควบคุมตัวสอบปากคำแล้ว แต่ยังคงให้การวกวน

 

ล่าสุดทีมข่าวของเรา ไปสัมภาษณ์ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฉายา “มือปราบหูดำ” หรือผู้การแต้ม ถึงประเด็นเรื่องการก่อเหตุของคนร้ายที่ใช้วิธีการใส่ในหีบเหล็กแล้วนำไปถ่วงน้ำ

 

โดยผู้การแต้มบอกว่าลักษณะการกระทำของผู้ก่อเหตุที่กระทำต่อคนในครอบครัวลักษณะนี้แม้หลายคนจะมองว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องด้านจิตเวชแต่ในมุมอดีตข้าราชการตำรวจอย่างผู้การแต้วมองว่า ผู้ก่อเหตุไม่ใช่ผู้ป่วยโรคจิตแต่กลับเป็นคนที่ฉลาดวางแผนได้อย่างแยบยล คนที่ป่วยโรคจิต จะขาดสติในการกระทำความผิด แต่ลักษณะของผู้ก่อเหตุกรณีนี้มีการวางแผนทำหีบเหล็กมาก่อน มีแล้วความพยายามในการเกลี้ยกล่อมให้พ่อและน้องสาวตัวเองลงไปอยู่ในหีบเหล็กได้นั้น แสดงว่าต้องไปคนที่มีทักษะด้านการพูดโน้มน้าวรวมถึงวางแผนไว้เป็นอย่างดีจึงมองว่าผู้ก่อเหตุคนนี้เป็นคนฉลาดไม่ใช่คนป่วยจิตเวช

 

ส่วนมูลเหตุหรือแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ก่อเหตุก่อเหตุลักษณะแบบนี้  ผู้การแต้มมองว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งจากการติดตามข่าวเชื่อว่าผู้กระทำความผิดน่าจะมีความโกรธแค้นเรื่องผลประโยชน์ในการแบ่งมรดกหลังจากแม่ของตัวเองเสียชีวิต ซึ่งมูลเหตุนี้เพียงพอที่จะสามารถทำให้ผู้ก่อเหตุลงมือก่อเหตุด้วยความโหดเหี้ยมได้ขนาดนี้

 

ผู้ก่อเหตุในคดีอาชญากรรมทุกรายมักคิดว่าการก่อเหตุของตัวเองนั้นจะหนีพ้นจากการถูกจับกุมและตัวเองก็จะได้รับประโยชน์จากการก่อเหตุนั้นอย่างเช่นกรณีนี้หากวิเคราะห์ดูแล้วเชื่อว่าผู้ก่อเหตุตั้งใจก่อเหตุฆ่าพ่อและน้องสาวของตัวเองเรื่องผลประโยชน์ที่ต้องการมรดกแต่เพียงผู้เดียวซึ่งมองเป้าหมายหลักคือพ่อ แต่ถ้าหากไม่ฆ่าน้องสาวตัวเองด้วยในภายภาคหน้าอาจจะเป็นภัยกับตัวเองจึงลงมือก่อเหตุฆ่าทั้งสองคน และหวังว่าจะได้ผลประโยชน์จากการครอบครองมรดกแต่เพียงผู้เดียว

 

ส่วนการกระทำเลียนแบบเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้นั้นผู้การแต้มมองว่าทำให้นึกถึงเหตุการณ์คดี ไอซ์หีบเหล็ก ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ว่าผู้ก่อเหตุอาจจะเคยดูข่าวหรือติดตามคดีดังกล่าวแล้วนำมาเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ แต่ละลักษณะการก่อเหตุแบบนี้โดยปกติแล้วผู้ก่อเหตุหรือบุคคลทั่วไปจะรับทราบได้จากภาพยนตร์ต่างชาติแล้วนำมาเป็นรูปแบบความคิดในการก่อเหตุได้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

 

วันนี้ 9 ม.ค. ทีมข่าวลงพื้นที่สอบถามข้อมูลรศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยเผยว่า ในปัจจุบันคนมักก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรง และมักอ้างเสมอว่ามีปัญหาทางจิต อย่างไรก็ตามการพิสูจน์นั้นต้องเป็นจิตแพทย์ผู้เชียวชาญ แน่นอนว่าผู้ต้องหาสามารถกล่าวอ้างได้ว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยทางจิต แต่พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำแพทย์เพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติทางสุขภาพทางจิตหรือไม่อย่างไร เพราะมีผลทางกฎหมาย

 

ต่อมาเมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่ามีความผิดปกติทางจิตขณะก่อเหตุจริง ตามกฎหมายระบุไว้ว่าผิด แต่อาจจะไม่ได้รับโทษ หรือรับโทษแตกต่างกันออกไป ดังนั้นที่ผ่านมาด้วยการเรียนรู้จากการติดตามข่าวสารทำให้ผู้ก่อเหตุบางรายอ้างตัวก่อนเลยว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต ซึ่งก็อยู่ที่แพทย์จะต้องตรวจพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิตจริงหรือไม่

 

ส่วนกรณีหากตรวจพบแล้วว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจริง จะสามารถวางแผนก่อเหตุในลักษณะนี้ได้หรือไม่ ดร.กฤษณพงค์เผยว่า ในหลักการคนที่มีความผิดปกติทางสภาพจิตใจมักจะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน และไม่ค่อยทำร้ายผู้อื่น แต่กลับกันกรณีนี้มีการวางแผนเป็นขั้นตอนถือว่ามีความคิดไม่ธรรมดา การก่อเหตุในลักษณะนี้เชื่อได้ว่ามีเจตนา จงใจ

 

เมื่อถามว่าเชื่อได้หรือไม่ว่ากรณีดังกล่าวเป็นผู้ป่วยทางจิตจริง ดร.กฤษณพงค์เผยว่า ผู้ก่อเหตุจะให้การอย่างไรก็ได้ แต่พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมหลักฐาน เช่นดูประวัติการรักษาก่อนหน้านี้ หากพบว่ามีความผิดปกติก็ต้องดูว่าทานยาถูกต้องหรือไม่ มีการรักษาเป็นอย่างไร แม้หลังก่อเหตุก็ต้องให้หมอประเมินว่ามีความรับผิดชอบชั่วดีอย่างไร

 

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวมีการรายงานถึงมูลเหตุว่าอาจมาจากเรื่องสมบัติในครอบครัว จึงทำให้ลงมือก่อเหตุ ดร.กฤษณพงค์เผยว่า ต้องมีการตรวจสอบในเชิงลึก เพราะการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งการเตรียมอุปกณ์ และออกอุบายลวงพ่อและน้องสาว ดังนั้นการวางแผนเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการคิด จึงเชื่อได้ว่ามีมูลเหตุหรือแรงจูงใจให้ลงมือฆ่าคนในครอบครัวซึ่งปกติไม่มีใครทำกัน ปัญหาเรื่องทรัพย์สินก็มีความเป็นไปได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก่อเหตุ หรือมีอะไรที่อยู่ในใจ ความโกรธแค้น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่การสืบสวนของเจ้าที่ตำรวจ

 

ดร.กฤษณพงค์ กล่าวอีกว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก มีการตอบโต้ด้วยความรุนแรงในวัยเด็ก โตมาก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้ จนทำให้โตมาเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดแตกต่างจากคนปกติ ส่วนแนวทางการป้องกันต้องมองย้อนไปวัยเด็ก ครอบครัวมีความสำคัญมากในการปลูกฝังถ่ายทอดสิ่งที่ถูกต้อง และต้องอาศัยความรักความผูกพันสายใยในครอบครัว ในทางกลับกันคนที่ไม่มีความรักในครอบครัว โอกาสที่จะรักต่อเพื่อนมนุษย์ก็จะลดน้อยลง

 

เลียนแบบ "ไอซ์ หีบเหล็ก" จับพ่อ-น้องยัดกล่อง "บิ๊กแต้ม" ฟันธงแกล้งบ้าได้เนียน