วันที่ 27 ตุลาคม 2566 นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และภาคีเครือข่าย ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานรื้อสายสื่อสาร ในโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ถนนหลังสวน และถนนสารสิน ณ บริเวณ หน้าโรงแรม โฮเทลมิวส์ แบงค็อก ถนนหลังสวน

ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานรื้อถอนสายสื่อสาร บนถนนหลังสวน (แยกถนนเพลินจิต - แยกถนนสารสิน) ระยะทาง 2 กิโลเมตร และ ถนนสารสิน (แยกถนนราชดำริ - แยกถนนวิทยุ) ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร โดยเป็นการดำเนินงานหลังจากที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้ดำเนินงานก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าว MEA ยังได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งหลังจากการรื้อสายสื่อสารแล้ว MEA มีแผนที่จะรื้อถอนเสา-สายไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2566 อีกด้วย

 



สำหรับแผนงานโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ MEA เขตคลองเตย ที่จะแล้วเสร็จในภายในช่วงต้นปี 2567 ประกอบด้วย
1.ถนนหลังสวน (แยกถนนเพลินจิต - แยกถนนสารสิน) ระยะทาง 2 กิโลเมตร
2.ถนนสารสิน (แยกถนนนราชดำริ - แยกถนนวิทยุ) ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร
3.ถนนพหลโยธิน (แยกถนนงามวงศ์วาน - ห้าแยกลาดพร้าว) ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร
4.ถนนลาดพร้าว (ห้าแยกลาดพร้าว - แยกถนนรัชดาภิเษก) ระยะทาง 2 กิโลเมตร
5.ถนนรัชดาภิเษก (แยกถนนพระรามที่ 4 - แยกถนนเพชรบุรี) ระยะทาง 6.8 กิโลเมตร
6.ถนนอังรีดูนังต์ (แยกถนนพระรามที่ 1 - แยกถนนพระรามที่ 4) ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร
7.ถนนวิทยุ (แยกถนนพระรามที่ 4 - แยกถนนเพลินจิต) ระยะทาง 4 กิโลเมตร
8.ถนนพระรามที่ 4 (หัวลำโพง - แยกถนนสุขุมวิท) ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร
9.ถนนสาทร (แยกถนนพระรามที่ 4 - แยกถนนเจริญกรุง) ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร

ภาพรวมโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดของ MEA ในปัจจุบัน มีระยะทางทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร มีเป้าหมายก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 ซึ่งเมื่อมีการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้ว ก็จะต้องมีการสร้างท่อและนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปด้วย โดยในขณะนี้ MEA สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จรวม 62 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญในถนนต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่มีการดำเนินโครงการสายไฟฟ้าและสายสื่อสารใต้ดิน จะมีการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าโดย MEA ช่วยสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์คอนสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ตามแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารปี 2566 – 2567 ของ MEA และสำนักงาน กสทช. ที่มีระยะทางรวม 1,360 กิโลเมตร โดยความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน

 

 



#สายสื่อสาร
#โครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน
#การไฟฟ้านครหลวง MEA
#กรุงเทพมหานคร #กทม
#สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
#กสทช #ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม

MEA เพิ่มพื้นที่ถนนสวย! จับมือภาคีรื้อสายสื่อสารใจกลางเมือง ถนนหลังสวน-สารสิน ในโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน