ศาลยกฟ้อง "ดร.เสรี" ไม่หมิ่นประมาท "ธนาธร" ชี้วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ลั่นเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ต.ค. 66 ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.930/2564 ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นโจทก์ฟ้อง ดร.เสรี วงษ์มณฑา และนายวุฒินันท์ นาฮิม 2 ผู้ดำเนินรายการชื่อดัง ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น ฯ

โจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลยทั้งสองได้ร่วมพูดคุยกัน ในรายการ"เปิดเนตร" หัวข้อ "เป้าประสงค์ชัด "ธนาธร อยากเป็นมากกว่านายกฯ" เผยแพร่ทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน YouTube ซึ่งเป็นการใส่ความให้บุคคลทั่วไป เข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าววาจา จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง มีเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้าย และต้องการล้มล้างสถาบันฯ เพราะเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายของโจทก์ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์เสียหาย เสื่อมเสียชื่อชื่อเสียง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328 ประกอบมาตรา 83 ให้จำเลยลบหรือหยุดเผยแพร่ โพสต์ และหรือบันทึกภาพเคลื่อนไหว ที่มีการหมิ่นประมาทโจทก์ฯ ซึ่งจำเลยได้รับการประกันตัววงเงิน 1 หมื่นบาท

ในวันนี้ ดร.เสรี วงษ์มณฑา และนายวุฒินันท์ นาฮิม จำเลยที่ 1-2 พร้อมทนายความมาศาล ขณะที่โจทก์และทนายความทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา ตามมาตรา 326,328 แล้ว แต่ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำหรือไม่

 

 

เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนที่จำเลยทั้งสองจะหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา นายธนาธรโจทก์ได้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมให้ปรากฏต่อสาธารณะโดยเคยให้สัมภาษณ์ทางสื่อต่างๆ ร่วมเสวนา และยังโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในทำนองว่า การให้สถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีการปฏิรูปสถาบันฯ เพื่อให้อยู่เหนือการเมือง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจบทบาทของสถาบันฯ ต้องสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ปฏิรูปเพื่อให้สถาบันดำรงอยู่คู่สังคมประชาธิปไตย และโจทก์เคยเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนี้เมื่อโจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎร โจทก์เคยอภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณในหน่วยงานส่วนพระองค์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ที่แสดงออกผ่านทางตัวโจทก์สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยและทำให้ประชาชนคิดไปได้ว่า เหตุใดโจทก์ซึ่งเคยเป็นสส.และเป็นบุคคลสาธารณะถึงต้องการปฏิรูปสถาบันฯ อันเป็นสถาบันสูงสุดของประเทศ

ซึ่งเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการพูดคุยในรายการของจำเลยทั้งสอง เป็นเพียงการนำข้อมูลของโจทก์ที่ปรากฏทางสื่อออนไลน์ การอภิปรายของโจทก์ในที่ต่างๆ และหนังสือของโจทก์ มาวิเคราะห์การกระทำ ซึ่งมีลักษณะส่อไปในทางที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันทราบถึงข้อมูลและพฤติกรรมของโจทก์ จึงนับว่าการกระทำของจำเลยเป็นแต่เพียงการจัดรายการในฐานะสื่อมวลชนและประชาชนคนหนึ่งวิเคราะห์ข้อมูลไปตามเนื้อข่าวที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ เป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อสื่อสารถึงการกระทำของโจทก์ไปยังประชาชนที่เคารพสถาบันฯเท่านั้น ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยทั้งสองหมิ่นประมาทโจทก์ จึงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยซึ่งบุคคลหรือ ประชาชนย่อมกระทำได้

จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังดร.เสรี ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณศาลที่พิพากษายกฟ้อง ซึ่งตนมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ความจริงแล้วคดีนี้ศาลได้ดำเนินการสืบพยานและตัดสินอย่างรวดเร็ว และไม่มีความกังวลใจอะไร เพราะเรารู้ว่าทำอะไร และเราเป็นสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต และเราจัดรายการไม่ได้กุข่าวขึ้นมา โดยเอาข่าวที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ มาวิเคราะห์อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง จึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ใช่ข่าวจริง

ทั้งนี้ศาลยังให้เหตุผลว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อมวลชนเท่านั้น แม้แต่ประชาชนที่เห็นพฤติกรรมของเขาแล้ว ไม่สบายใจ ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้