"วิษณุ" ไม่รับร่วมคณะแก้รัฐธรรมนูญ แต่พร้อมให้คำปรึกษา ชี้ช่องแก้มาตรา 256 ลดขั้นตอนทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง

นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะทาบทามเข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ว่าขอบพระคุณมากที่ยังนึกถึง ซึ่งงานที่ทำเป็นงานใหญ่ ใช้เวลาและยุ่งยาก และข้อสำคัญอยู่กับความเห็นที่แตกต่าง ที่อาจจะเกิดความขัดแย้ง

 

"ผมพ้นออกมาจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกลับไปเป็นบุคคลสาธารณะอีก เพราะการไปทำงานนี้ คือเป็นไปบุคคลสาธารณะอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ก็สบายอกสบายใจอยู่แล้ว"  วิษณุกล่าว

 

ส่วนจะมาขอคำแนะนำเป็นบางครั้งบางคราว วิษณุบอกว่า ก็ยินดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอยู่บ้างก็คือรัฐมนตรีหน้าเก่าๆ ที่เคยอยู่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคุ้นเคยกันอยู่ก็โทรมาสอบถาม ว่าสมัยนั้นสมัยนี้เป็นอย่างไร แต่ไม่ถามว่า ควรจะอย่างไรเพราะท่านตัดสินใจเองได้ รวมถึงถามเรื่องในอดีต อาทิ มติ ครม.เก่าๆ  ซึ่งก็มีคนโทรมาถามทุกวัน

 

นายวิษณุ ยังกล่าวแสดงความเห็นแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญว่า ให้เขาคิดกันเอง เพราะว่ามันยุ่งยากซับซ้อน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ควรจะหลบหลีกการทำประชามติหลายครั้ง และตนเห็นด้วยกับแก้ไขเป็นรายมาตรา ทีละหลายๆ มาตรา ก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้ แต่เพียงว่าในกรณีที่เป็นการแก้ไขหมวด 1 ทั่วไป  หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ส่วนเรื่องการแก้ไขอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขององค์กรอิสระ ซึ่งกระทบกับเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตรงนี้ต้องทำประชามติเมื่อแก้ไขเสร็จวาระ1 วาระ2 และ วาระ3 ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะฉะนั้นเก็บไว้ทำคราวหลังได้หรือไม่

 

นายวิษณุยังแนะนำถึงการแก้ไขที่ควรทำว่า ให้แก้ไข หมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการ หมวด 4 หน้าที่ของรัฐ หมวด 5 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา ซึ่งแก้ได้ตามใจชอบไม่ต้องทำประชามติ หมวด 8 คณะรัฐมนตรี หมวด 9 ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน หมวด10 เรื่องศาล เรื่องเหล่านี้แก้ได้หมด

 

เมื่อถามว่า การทำประชามติควรทำครั้งเดียวตอนเสร็จแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ที่ต้องทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ ถ้าแก้มาตรา 256 ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ต้องทำประชามติ ก็จะไม่ต้องทำประชามติ แต่การจะแก้หนแรกในเรื่องมาตรา 256 ต้องทำประชามติก่อน ถึงจะลบล้างเรื่องประชามติไปได้

 

นายวิษณุกล่าวต่อว่า พอเสร็จวาระ 1-3 ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป จะไม่ได้เจอเรื่องทำประชามติ แต่ถ้าแก้ตามแนวทางของรัฐบาล ก็ต้องทำประชามติ ซึ่งก็คือ 1.คุณก็ต้องทำประชามติแก้ทั้งฉบับว่าเห็นด้วยหรือไม่ 2.ต้องตั้งสสร. และ 3. ถ้าสสร. ต้องไปทำประชามติทั้งประเทศอีก ซึ่งการทำประชามติครั้งหนึ่งประมาณ 3 พันล้านบาท จึงต้องแก้ที่มาตรา 256 ซึ่งอาจไม่ผ่าน เพราะต้องผ่านความเห็นของสมาวุฒิสภา (สว.) เขาก็กลัวว่าจะไปแก้อะไรต่อมิอะไรกัน อย่างไรก็ตามการทำประชามติควรทำอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ เริ่มแก้ไขและตอนจบที่จะไปประกาศใช้