"พิธา" ยันความสัมพันธ์ "ปิยบุตร" ยังดี เข้าใจ "เศรษฐา" ปรึกษาอดีตนายกฯ เป็นเรื่องปกติ เผยพรรคเตรียมกฎหมายนิรโทษกรรมยื่นเข้าสภา

วันที่ 23 กันยายน 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ภาพรวมการประชุมในวันนี้ เป็นการปรับองค์กรเพื่อให้เดินหน้าต่อไป ทั้งในเรื่องของบุคลากร และการปรับข้อบังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการที่จะก้าวต่อไปในอนาคต

ส่วนบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ในอนาคตคาดหวังอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า ไม่ได้คาดหวังอะไร มองว่าผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนต่อไปไม่ได้เป็นเรื่องของบุคคลอยู่แล้ว เป็นเรื่องของการเดินทางของพรรคโดยรวม และผู้ที่จะเข้ามาก็มีความพร้อมทุกคน

ส่วนกรณีที่มีการวางแผนว่า เป็นการเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อทำงานชั่วคราว รอคำสั่งศาลแล้วนายพิธาจะกลับเข้ามาเป็น สส. และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม นายพิธา ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องนี้ ยังไม่มีความแน่นอน ใครที่จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรคก็มีความท้าทายในทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพราะฉะนั้นบุคคลนั้นต้องมีความพร้อมที่จะเป็นหัวหน้าตัวจริง และเลขาฯ ตัวจริง

ส่วนที่จะมีการตั้งตำแหน่งพิเศษของนายพิธาเพื่อเป็นผู้นำของพรรค นายพิธา กล่าวว่า จะขอชี้แจงความชัดเจน 100% อีกครั้งหลังการประชุม

นายพิธา กล่าวอีกว่า ตนพร้อมที่จะทำงานเพื่อพรรคก้าวไกลในทุกบทบาทแม้ไม่ว่าจะมีตำแหน่งก็ยังทำงานต่อเหมือนเดิม

ส่วนกรณีที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคก้าวไกล อาจจะทำให้เสียมวลชนไป พรรคก้าวไกลจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า ไม่เคยคิดว่าจะต้องเป็นเรื่องเสียมวลชน หรือไม่ได้เสียมวลชน แต่เรื่องที่สำคัญคือการคำนึงถึงความรู้สึกของคนในพรรค และความรู้สึกของนายปิยะบุตรด้วย ซึ่งส่วนตัวยังคงคิดถึงอาจารย์ปิยบุตรตลอด ตั้งแต่ตอนที่เริ่มตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วยกันมา จนกระทั่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงที่ถูกต้องตามกฏหมายทุกอย่างในช่วงหาเสียง ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ยังคิดถึงอาจารย์เสมอ และตนเชื่อว่าทุกคนยังคิดถึงอาจารย์ รวมถึงกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ไป

ส่วนจะมีการพูดคุยหรือปรับความเข้าใจกับนายปิยะบุตรเพื่อให้ช่วยกลับมาทำงานหรือไม่ นายพิธา ระบุว่า ยังเจอนายปิยบุตรอยู่เรื่อยๆ เพิ่งไปทานข้าวด้วยกันมา ได้พูดคุยกันตลอดตามที่กรอบกฎหมายอนุญาต

ส่วนกรณีที่มีแฟนด้อมไปทัวร์ลงที่นายปิยบุตรนั้น จะมีการปรับความเข้าใจ หรือส่งสัญญาณไปยังแฟนคลับหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ความสามัคคีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกฝ่ายในช่วงที่การเมืองอยู่ในบริบทเช่นนี้ ขอให้ทุกคนมีความสามัคคี และมีความอดทนอดกลั้นที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อให้ฝ่ายค้านมีความเข้มแข็ง

ส่วนมีความกังวลหรือไม่ ที่หัวหน้าพรรคเปลี่ยนเป็นคนอื่น นายพิธา ระบุว่า ขณะนี้ไม่มีความกังวลใดๆ มีความจำเป็นที่ตนจะต้องคิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และเปิดทางให้มีผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเชิงมหภาคหรือจุลภาค ก็ยังมีความจำเป็น ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่มีความแตกต่างอะไรกันมากในการทำงานของแกนนำทั่วไป

ส่วนเสียดายหรือไม่ที่ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ไม่ได้รับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค นายพิธา กล่าวว่า ก็แน่นอน แต่เชื่อว่านางอมรัตน์ยังเป็นส่วนหนึ่งของพรรคก้าวไกล พร้อมย้ำว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้คำนึงถึงตัวบุคคลหรือตำแหน่งสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีการเปลี่ยนก็ยังคงทำงานร่วมกันอยู่ดี และแม้ว่าจะไม่มีคนๆ นึงอยู่ พรรคก็ยังคงเดินทางต่อเนื่องและไปต่ออยู่ดี

สำหรับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ นอกจากปรับเรื่องกรรมการบริหารพรรค ยังเป็นการปรับเพื่อรองรับอุบัติเหตุทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เป็นการปรับโครงสร้างของพรรคเพื่อให้ก้าวไปต่อข้างหน้าได้ ซึ่งต้องทำงานแบบฝ่ายค้านเชิงรุก ขณะเดียวกันต้องตั้งรับอุบัติเหตุทางการเมืองหรือการรักษาพื้นที่ทางการเมืองที่พรรคก้าวไกลควรจะได้รับ ไม่ใช่ว่ารับอย่างเดียว ไม่รุก ซึ่งไม่ใช่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ดี

เมื่อถามถึงการปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามี 2 มาตรฐานหรือไม่ ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ พรรคก้าวไกลจะตรวจสอบอย่างไร นายพิธาระบุว่า ยังไม่ได้ติดตามเรื่อง แต่ทราบว่าที่พรรคมีการพูดคุยกันถึงกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและสร้างบรรทัดฐาน พร้อมเตรียมเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา

ส่วนที่ นายพิธ าเดินสายพบทูตจีนและทูตสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา นายพิธายืนยันว่า ไม่ใช่นายกฯ เงา แต่เนื่องจากเป็นวันชาติจีน ส่วนการพบทูตสหรัฐฯ มีการนัดไว้ล่วงหน้าแล้ว ก่อนหน้านี้ติดภารกิจเลือกตั้งซ่อมจังหวัดระยอง เมื่อเสร็จภารกิจจึงไปพบ พร้อมย้ำว่ามีการพูดคุยที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งไทย จีน สหรัฐฯ

นอกจากนี้ นายพิธา ยังตอบคำถามสื่อต่างประเทศถึงกรณีที่นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการดึงนายทักษิณ มาเป็นที่ปรึกษาว่า ตนเข้าใจว่ารัฐบาลเพียงต้องการหารือกับอดีตนายกรัฐมนตรีหลายๆ ท่าน เพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น จึงมองว่าไม่ได้ผิดอะไร