"ปิยบุตร" ประกาศยุติบทบาททางการเมือง หลังจากนี้จะไม่พูดถึงก้าวไกลอีก ขอไปดูแลตัวเองและเขียนงานวิชาการค้างไว้

“ปิยบุตร” ร่ายยาว 1 ชั่วโมง เสียใจหากไม่ชวน “ช่อ พรรณิการ์” ลงเล่นการเมือง ชีวิตคงไปได้ดี ไม่ต้องถูกสังคมนินทา-ใส่ร้าย-มีคดีติดตัว เสียดายแทนประเทศสูญเสียบุคลากรมากความสามารถ ยก 5 ประเด็น “มาตรฐานจริยธรรม” บิดเบี้ยว ชี้ เป็นยาแรงเกินไปเสมือนประหารชีวิตในโลกอารยะ รับจี้ “ก้าวไกล” แสดงความเห็นเพราะอินเกิน ประกาศยุติคอมเมนต์การเมือง หลังเจอทัวร์ลง

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ นางสาวพรรณิการ์ วานิช ถูกศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป กว่า 1 ชั่วโมง 12 นาที

โดยนายปิยบุตร กล่าวว่า ตนขอวิพากษ์วิจารณ์ 5 ประเด็น และพูดคุยว่าส่งผลต่อเนื่องของคำพิพากษาในทางการเมืองและกฎหมาย 2 ข้อ รวมถึงข้อเสนอแนะหลังจากนี้

โดยประเด็นที่ 1 มาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่สมควรให้ศาลหรือองค์กรตุลาการเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งนายปิยบุตร อธิบายว่า เวลาพูดถึงมาตรฐานจริยธรรมปกติแล้วทุกองค์กรจะมีมาตรฐานอยู่แล้ว เอกชนก็มี ภาครัฐก็มี ซึ่งเรียกแตกต่างไม่เหมือนกัน บางที่เรียกมาตรฐานจริยธรรม บางที่เรียกข้อพึงปฏิบัติ โดยเป็นคุณค่าที่แต่ละองค์กรต้องยึดไว้เป็น Core Value หรือคุณค่าหลัก

“เวลาเราออกแบบมาตรฐาน หลักมันมีอยู่ว่าองค์กรใครองค์กรมัน แต่ละองค์กรจะออกแบบกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมคุณค่าพื้นฐานของแต่ละองค์กรเอง เพราะไม่มีใครรู้ได้ดีที่สุดเท่ากับคนในองค์กรตัวเอง ว่าในองค์กรตัวเองควรจะมีมาตรฐานในการปฏิบัติตนกันอย่างไร และมาจากการพูดคุยกันอภิปรายถกเถียงกันในองค์กร ว่าอะไรจะเป็นคุณค่าพื้นฐานที่กำหนดร่วมกัน ดังนั้นหลักใหญ่ใจความจะต้องให้องค์กรนั้นๆ เขาเป็นคนกำหนดกันเอง แล้วเมื่อกำหนดกันเองแล้ว ก็จะตามมาด้วยมาตรการบังคับ มาตรการลงโทษ ในกรณีที่ฝ่าฝืน ซึ่งหมายความถึงการให้คนในองค์กรช่วยกันออกแบบ เช่น มีคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง มีคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยและลงโทษในองค์กรของตนเอง”

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ปัญหาความซับซ้อนเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ยกร่างโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะ ก็เอาไปโฆษณาชวนเชื่อในการทำประชามติว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปรับโกง มียาแรงลงโทษนักการเมือง ใครเห็นแล้วก็ต้องร้องโอ้โฮ ชื่นชมกันยกใหญ่

“จำเลยที่หนึ่งของคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือนักการเมือง และเมื่อคุณออกแบบมาแบบนี้คุณก็ตังค์โทษเอาไว้สูงให้น่ากลัวเกินกว่าที่คนปกติจะได้รับกันจึงเป็นที่มา และเอามาตรฐานทางจริยธรรมมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญไม่พอ ยังเขียนให้ศาลองค์กรอิสระต่างๆ มานั่งประชุมร่วมกันและกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมา หลังจากนั้นก็ไปเขียนเพิ่มครับว่ามาตรฐานจริยธรรมแบบนี้ให้เอามาใช้กับ สส. สว. ด้วย ดังนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งปุ๊บ คุณไม่ได้ออกมาตรฐานจริยธรรมเอง คุณต้องหยิบยืมเอามาตรฐานทางจริยธรรมที่บรรดาศาลและองค์กรอิสระเขาออกกันเอามาใช้กับพวกคุณด้วย”

นายปิยุบตร ระบุว่า ในแง่การตรวจสอบ เขาออกแบบไว้ว่าแบบที่หนึ่ง หากฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมแบบทั่วไปก็ให้องค์กรตัดสินกันเอง แต่ถ้าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงต้องไปอยู่ในมือการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จากนั้นจะส่งเรื่องไปให้ศาลฎีกาพิพากษาชั้นเดียวเท่านั้น ไม่สามารถโต้แย้งหรืออุทธรณ์ได้

“พอรัฐธรรมนูญฉบับ 60 เอาศาล เอาตุลาการมายุ่ง มันก็เลยยุ่งไปเลย เพราะอะไรครับ เพราะศาลเป็นองค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท เป็นการตัดสินโดยเอากฎหมายมาตัดสิน เช่น ใครทำผิดทางอาญา เขาก็จะมีองค์ประกอบความผิดมาตราต่างๆ และมีบทลงโทษ แต่เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องความเหมาะ ความพอเหมาะพอควร ความเหมาะสมของการที่คนคนหนึ่งไปดำรงตำแหน่งและปฎิบัติหน้าที่อย่างไร ไม่ใช่ประเด็นชี้ขาดทางกฎหมาย และคำว่าจริยธรรมมันกว้างขวางเหลือเกิน หลายเรื่องไม่ได้ประเด็นความผิดทางกฎหมายที่จะมาชี้ถูกชี้ผิดโดยองค์กรตุลาการ”

นายปิยบุตร เชื่อว่า ตุลาการศาลไม่อยากทำหน้าที่ตัดสิน แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้น รอบนี้จึงเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่ผิดฝาผิดตัว

ประเด็นที่ 2 นายปิยุบตร กล่าวว่าเป็นเรื่องอัตราโทษในกรณีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงสูงมาก ไม่ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องกลับไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรค 3 และ 4 มีบทลงโทษ 2 ฐาน คือเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดไปและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี ตนย้ำว่าสิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบบประชาธิปไตย

“มันหมายความว่าคุณกำลังตัดคนคนหนึ่งออกจากคำว่าพลเมือง ตัดออกจากเมืองนี้ พลเมืองคือคนที่อยู่ในเมือง เขาอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง อยากตัดสินใจว่าใครจะมาเป็นผู้แทนของเขา… นี่คือสิทธิ์พื้นฐานที่จำกัดความเป็นไปของบ้านเมืองที่มีอยู่ คุณเอาสิทธิ์ของเขาไปไม่เกิน 10 ปี มันส่อว่าคุณกำลังละเมิดสิทธิพื้นฐานพลเมืองอย่างรุนแรง ที่จริงมันขัดหลักสากล รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดกับหลักสากลหลายประเด็น เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง”

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า ส่วนการเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป ถือเป็นการประหารชีวิตนักการเมือง ตอนนี้เป็นโลกยุคอารยะ สมัยก่อนเขาเอาขึ้นเขียง กิโยติน หรือบางทีก็เนรเทศออกไป

“โลกสมัยใหม่คุณประหารชีวิตแบบนี้ไม่ได้ คุณไล่คนออกจากประเทศไม่ได้ วิธีการประหารชีวิตทางการเมืองก็เอาอย่างนี้แล้วกัน เอ็งจงออกไปจากชีวิตทางการเมืองของประเทศซะ ด้วยการห้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งอะไรเลย ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองอะไรเลย… เดี๋ยวนี้มันอัดยาแรงขึ้นไปอีก หลังๆแต่ละคนโดนกัน 10 ปี”

นายปิยบุตร ย้ำว่า กรณีมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ไม่มีระดับลงโทษเลย มีเพียงโทษเดียว บังคับคำว่าตลอดไปเท่านั้น ถือว่าเขียนรัฐธรรมนูญได้อุกอาจมาก เขียนโทษสูงขนาดนี้ได้อย่างไร

“โทษของนักการเมืองคือพ้นออกไปจากตำแหน่งก็ถือว่าเป็นยาแรงแล้ว แต่ก็มีของแถมอีกว่าห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง…จนตอนนี้มีคนจำนวนมากที่เขาได้รับโทษจากการกระทำของเขาไปแล้ว แต่เขาต้องรับโทษเบิ้ลอีกทีหนึ่ง คือห้ามลงเล่นการเมืองตลอดชีวิต ผมว่าเกิน 100 คนที่โดนแบบนี้ นี่มันประเทศอะไร”

ประเด็นที่ 3 นายปิยบุตร กล่าวว่า มาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงบังคับใช้ย้อนหลัง ซึ่งมาตรฐานฉบับนี้บังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 ส่วนกรณีที่นางสาวพรรณิการ์ถูกร้องเรียน 6 กรณี ที่โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊ก เกิดขึ้นในปี 2553-2558 ก่อนที่มาตรฐานจริยธรรมฉบับนี้จะใช้บังคับ ซึ่งหลักกฏหมายห้ามนำมาบังคับใช้ย้อนหลัง โดยเฉพาะกฏหมายที่มีผลกระทบกระเทือนเป็นการลงโทษบุคคลจำกัดสิทธิ์บุคคลอย่างรุนแรง ตั้งคำถามว่าใครจะรู้ล่วงหน้า แฟร์หรือไม่ มาตรฐานจริยธรรมเป็นสิ่งที่กำหนดการกระทำของมนุษย์ ตอนที่เขาโพสต์ เขาต้องดูว่าอะไรคือกฎเกณฑ์ที่จะใช้กับเขา

ประเด็นที่ 4 นายปิยุบุตร ได้กล่าวย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกว่า 10 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้นนางสาวพรรณิการ์ ยังไม่ได้เข้าสู่วงการการเมืองเลย อีกทั้งหากนับอายุที่ได้ทำงานในสภาก็เท่าตน เราเริ่มเข้ามาพร้อมกัน ก่อนตั้งคำถามว่าเมื่อนางสาวพรรณิการ์ถูกพิพากษาให้พ้นจากการเป็น สส. ไปแล้วนั้น เรื่องของจริยธรรมยังคงตามไปหลอกหลอนกับตัวนางสาวพรรณิการ์อีกหรือไม่ เหมือนเช่นกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ก็ถูกถอดถอนซ้ำซากด้วย

ประเด็นสุดท้าย นายปิยบุตร กล่าวว่า การกระทำของนางสาวพรรณิการ์ เป็นประเด็นที่ฝ่าฝืนจริยธรรมจริงหรือ ซึ่งคนไม่ค่อยพูดถึงกัน ตนยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งศาลลงโทษจากกรณีต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในคำพิพากษากล่าวจำเพาะว่ามีการพาดพิงถึงสถาบัน แม้จะปิดกั้นทางเฟซบุ๊กให้เห็นเฉพาะเพื่อน แต่เพื่อนในเฟซบุ๊กมี 4,000 คน ก็ยังสามารถเห็นภาพถ่ายดังกล่าวได้

“อาจจะมีคนไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่แน่นอนเราต้องยืนจากหลัก เราต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อให้คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามแต่เป็นคนละเรื่องกับการไม่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รูปภาพ 6 รูปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แสดงว่าเขาไม่รักษาสถาบันหรือ”

สำหรับ 2 ผลสืบเนื่องหลังคำพิพากษาของนางสาวพรรณิการ์ นายปิยบุตร กล่าวว่าข้อหนึ่ง หลังจากนี้หากใครจะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจโดนขุดดิจิทัลฟุตพริ้นท์ เอามาร้องเรียนทำให้สามารถถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตได้ เหมือนเป็นการปรามว่าไม่ให้กระทำผิดในลักษณะแบบนี้ - ข้อสอง คือ ต่อไปนี้มาตรฐานจริยธรรมจะกลายเป็นอาวุธหนักจัดการนักการเมือง ที่มีผลร้ายแรงถึงขั้นถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตเช่นกัน เหมือนทำให้นักการเมืองต้องสยบยอม แต่หากใครอยู่เงียบๆ ก็มีโอกาสรอด

ขณะที่ 2 ข้อเสนอแนะ นายปิยบุตร มองควรนำเรื่องมาตรฐานจริยธรรมออกจากตัวรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรต่างๆ จัดการกันเองภายในองค์กร ให้เขาลงโทษกันเอง กระบวนการศาลไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง - ควรยกเลิกโทษเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต รวมถึงการตัดสิทธิเลือกตั้งก็ไม่ควรมี อีกทั้งแก้ไขมาตรา 98 ในเรื่องลักษณะต้องห้าม สส. ที่ได้รับโทษหนักไปแล้ว ต้องมาถูกสั่งห้ามลงเล่นการเมืองอีก มันต้องแยกออกจากกัน

 

นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องให้กำลังใจนางสาวพรรณิการ์ รวมถึงนักการเมืองที่โดนเรื่องนี้ อะไรที่ผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ไม่ควรโดนเป็นลูกระนาดแบบนี้

“ต้องให้กำลังใจคุณพรรณิการ์ด้วย ผมเองก็ยอมรับตรงไปตรงมาว่าอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวนิดหน่อย เป็นจิตสำนึกส่วนบุคคลของผมเล็กน้อย ทุกท่านก็คงจะทราบ เพราะคุณช่อก็เคยเล่าอยู่ ว่าผมเป็นคนไปชวนคุณพรรณิการ์ให้มาร่วมกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วยกัน ขอให้เขามาเป็นโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ช่วงประชุมพรรคอนาคตใหม่ คุณช่อก็จะนั่งติดกับผม พอคุณช่อโดนลงโทษแบบนี้ ผมก็เสียใจและมีความรู้สึกว่านึกย้อนไปเหมือนกันว่า ถ้าวันนั้นผมไม่ชักชวนกันมา คุณช่ออาจจะเป็นผู้ประกาศข่าวที่มีชื่อเสียง และผลงานเป็นที่นิยมชมชอบของคนจำนวนมาก แต่วันนั้นคุณช่อเด็ดขาดมาก ผมชวนปุ๊บก็ตัดสินใจมาร่วมเดินทางด้วยกัน เพราะเราเห็นว่าเราต้องการมีพรรคการเมือง เพื่อต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ได้ หากไม่ชวนมาการแสดงออกของคุณชอบมา 6 ปีที่แล้ว ก็คงไม่โดนขุด มันเกิดจากบทบาทการเป็นผู้แทนราษฎร เกิดจากฝ่ายอนุรักษ์ฝ่ายความมั่นคงรู้สึกระแวดระวังกังวลใจกับพรรคอนาคตใหม่” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนเชื่อว่าชีวิตเขาคงไปได้ดี คงไม่มาถูกใครชอบหรือชัง ยอมรับว่าอินกับเรื่องนี้มาก ถือเป็นจิตสำนึกส่วนบุคคล ไม่เช่นนั้น นางสาวพรรณิการ์ไม่ต้องมาถูกสังคมนินทาใส่ร้าย ไม่มีคดีความติดตัว แต่ก็ต้องชื่นชนที่นางสาวพรรณิการ์ มีใจที่เด็ดขาดตั้งใจมาร่วมทำงานหวังเปลี่ยนแปลงประเทศร่วมกัน ต้องให้กำลังใจ และก็เสียดายแทนประเทศไทยที่ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถไป

นายปิยบุตร ยังกล่าวว่า กรณีที่ตนวิจารณ์พรรคก้าวไกล ว่าแสดงออกเรื่องดังกล่าวช้าไปนั้น ต้องยอมรับว่าตนอินกับเรื่องนี้มาก และคาดหวังว่าพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมืองที่มีจุดยืดกับเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ การใช้นิติสงครามในการประหารกัน และน.ส.พรรณิการ์ ก็เป็นผู้เริ่มต้นก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และยังเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคก้าวไกลอีกด้วย ตนจึงตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ไปอย่างตรงไปตรงมา และตนทราบดีว่ามีคนไม่เห็นด้วย และวิจารณ์กลับมาจำนวนมาก

“บ้างก็ว่าผมใจร้อน บ้างก็ว่าทำไมไม่ดูไลน์กลุ่ม ทำไมไม่ส่งไลน์กันภายใน ทำไมต้องมาพูดข้างนอก ตกลงแล้วผมหวังดีกับพรรคหรือเปล่า ผมเรียนว่าที่ท่านวิพากษ์วิจารณ์ผมมาทั้งหมด ผมอ่านหมด และน้อมรับเป็นธรรมดาที่บุคคลสาธารณะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเรื่องปกติ บางคนก็บอกให้ผมไปคุยกับสส.เงียบๆ ให้ยกหูหา แต่คำถามคือในทางกฎหมาย ผมถูกห้ามอยู่แล้วในเรืองการครอบงำ และในทางความเป็นจริงผมไม่มี โอกาสเข้าไปแนะนำ แนะแนวอะไรในพรรคก้าวไกล เว้นแต่จะเจอสส.ในชีวิตประจำวัน หากมีอะไรก็พูดคุยกัน แต่ผมไม่ได้เข้าไปสั่งสอน หรือให้คำปรึกษาภายในพรรคเลย”นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรกล่าว ดังนั้น สส.ทั้ง 151 คน รวมถึงคณะผู้นำของพรรค ตนจะไปสื่อสารอะไรได้ ทำได้มากที่สุดคือโพสต์ในที่สาธารณะ เพื่อให้เป็นหลักประกันชัดเจนว่าทุกคนได้เห็นแน่นอน ตนไม่มีสิทธิเข้าไปทำงานในพรรคเนื่องจากกฎหมายได้ห้ามไว้ และทางพรรคก็ไม่ได้เชิญเข้าไปด้วย ลองคิดดูว่าการที่ตนวิพากษ์วิจารณ์พรรคก้าวไกล ตนได้ประโยชน์ส่วนบุคคลอะไรบ้าง ตรงกันข้ามมีแต่คนเกียจตนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ผ่านมาเวลาตนแสดงความคิดเห็น จะมีแค่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม มาต่อต้านและมาโจมตี ซึ่งตนโดนมา10ปีแล้ว เมื่อเข้ามาช่วยพรรคก้าวไกลหาเสียงอย่างเต็มที่ก็ถูกผู้สนับสนุนของพรรคเพื่อไทยตอบโต้และเป็นเป้าหมายสำคัญ จนมาวันนี้ตนวิจารณ์พรรคก้าวไกล ตนก็โดนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลตำหนิติเตียน ไม่พอใจ หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาถ้าตนจะถูกวิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมอยู่แล้วก็ไม่เป็นไร โดนจากผู้สนับสนุนของพรรคเพื่อไทยก็พอเข้าใจได้ แล้วตนจะหาเรื่องใส่ตัวโดยการวิจารณ์พรรคก้าวไกลอีกทำไม

“กลายเป็นว่าต่อไปนี้เวลาผมพูดอะไรก็มีคนจองกฐินผม 3 กลุ่ม แล้วผมจะทำไปทำไมทำไปโดยที่ไม่ได้อะไรเลย ผมจะดำรงตำแหน่ง หรือจะกลับมาเล่นการเมืองได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ อามิสสินจ้างก็ไม่ได้ ค่าตัวก็ไม่ขึ้น ความนิยมชมชอบก็ลดน้อยลงมีแต่คนด่าเพิ่มขึ้น แล้วผมจะไปทำไม พูดสั้นๆเพราะผมยังเชื่อมั่นพรรคก้าวไกลอยู่ ว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ดังนั้นใครจะวิจารณ์ผมก็เต็มที่ ไม่มีลบโพสต์รวมถึงดำเนินคดี” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรกล่าวว่า ถ้าสถานการณ์ดำเนินไปในลักษณะที่ไม่พร้อมจะฟังการพูดอย่างตรงไปตรงมาของตน “นับตั้งแต่นี้ผมจะพยายามไม่พูดถึงพรรคก้าวไกล” ซึ่งตนมีข้อเขียนที่เตรียมไว้ด้วยความปรารถนาดีถึงพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจจะเป็นข้อเขียนสุดท้ายที่พูดถึงพรรคก้าวไกล และต่อไปนี้ตนจะไม่พูดอีกแล้ว เพราะมีคนไม่เห็นด้วยไม่พอใจเท่าไหร่ อย่างน้อยที่สุดข้อเขียนสุดท้ายนี้ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองไทย ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลรวมถึงผูเที่สนับสนุนด้วย