"ภูมิธรรม" ลั่น แก้รธน.ทุกฝ่ายต้องยอมรับได้ เตรียมถึงฝ่ายการเมืองแต่ละพรรคเข้าหารือ

วันที่ 14 ก.ย. 66 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีง่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้ดูแลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตลอด 4 ปีของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายร่าง แต่ที่สุดไปไม่ได้ หลายฉบับตกไป หลายฉบับค้างที่วาระ 2 วาระ 3 ในที่สุดไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ และตัดสินว่าอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้อำนาจประชาชน ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องไปถามประชาชนก่อนถึงจะแก้ได้ ทางปฏิบัติจึงต้องถามประชาชนก่อนว่าจะแก้หรือไม่แก้ และถ้าแก้จะแก้ด้วยกระบวนการแบบไหน อย่างไร ดังนั้นถ้าไม่เคลียร์ให้จบก่อน แต่ละกระบวนการจะค้างไม่คืบหน้า ส่วนประเด็นหมวดหนึ่งหมวดสองนั้นรัฐบาลยืนยันว่าหากมีการแก้ไขจะไม่แก้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

“แต่ปัญหาที่มีอยู่คือเรื่องเกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจในระบบประชาธิปไตย ได้มาอย่างไร และทำให้กระบวนการเอื้ออำนวยต่อการบริหารประเทศ ต่อการรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อให้มีความคิดเห็นที่หลากหลายในการช่วยกันคิดให้กระบวนการเดินหน้าไปได้ หาจุดที่พอดีให้เดินหน้า หากเราสามารถพูดคุยส่วนต่างๆได้จะค่อยๆแกะไปที่ละเปราะแล้วนำไปสู่การแก้ไขที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และจะเป็นการเปิดประตูบานแรกจนได้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นออกมา” นายภูมิธรรมกล่าว

นายภูมิธรรม ยังกล่าวอีกว่าเราต้องเริ่มจากความเป็นจริงเพราะถ้าจะแก้อะไรที่หักหาญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปิดอำนาจให้ ถ้าจะทำโดยไม่คำนึงถึงคนที่เห็นต่างทุกฝ่ายจะไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ดังนั้นการได้พูดคุยกันหาความพอดีกัน เพราะทุกฝ่ายยอมรับว่าการแก้รัฐธรรมนูญควรทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนจะทำวิธีการไหนจะเป็นการประนีประนอมของทุกฝ่ายเพื่อแกะทีละปม โดยหลังจากนี้ตนจะเร่งตั้งคณะกรรมการที่มีมาจากทุกฝ่ายตามที่นายกฯได้สั่งการให้ดึงการมีส่วนร่วมของทุกคนเข้ามาและให้รายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามว่าการได้มาซึ่งคำถามที่จะให้ทำประชามติจะใช้เวทีรัฐสภาหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เวทีรัฐสภา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะคุยถ้าเห็นพ้องกันทุกฝ่ายก็เป็นจุดเริ่มต้นว่าคนที่เป็นตัวแทนคนในสังคมพอใจกับสิ่งนี้ แล้วนำไปสู่การตัดสินของประชาชน ถ้าเห็นด้วยเลยก็จะเป็นไปด้วยดี ถ้ามีความเห็นต่างก็นำความเห็นต่างมาปรับปรุงเพื่อลดช่องว่างความเห็นต่าง

ส่วนมีกรอบหรือไม่ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะเริ่มทำประชามติ นายภูมิธรรม กล่าวว่า นายกฯกำชับอยากให้ตนที่คลุกคลีเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมา ไปดึงความคิดเห็นเข้ามาซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากการนำทีมที่ปรึกษาของแต่ละพรรคการเมืองมาพูดคุยกัน แล้วขยายตัวไปสู่กลุ่มวิชาชีพ ถ้าเห็นพ้องกันทั้งกลุ่มธุรกิจ ประชาชน ข้าราชการ ก็จะทำให้การขยับไปสู่การลงประชามติไม่ยากลำบาก